Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

07 มีนาคม 2559 พ.ร.บ.กสทช.ถึงมือครม.สัปดาห์หน้า เพื่อปรับปรุงให้ กสทช.ทำงานคล่องตัวขึ้น พร้อมกับการนำ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เสนอต่อ ครม.

ประเด็นหลัก




พ.ร.บ.กสทช.ถึงมือครม.สัปดาห์หน้า

นอกจากนี้นายอุตตม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงไอซีทีได้เตรียมนำพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. 1 ใน 3 ฉบับ ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เพื่อปรับปรุงให้ กสทช.ทำงานคล่องตัวขึ้น พร้อมกับการนำ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เสนอต่อ ครม.





_________________________________





‘อุตตม’ยํ้าชัดยุค 4 จี คนไทยเข้าสู่โลกดิจิตอลเต็มตัว

สืบเนื่องจากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ได้จัดงานสัมมนา “4 จี มาใครได้ประโยชน์?” โดย ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อ “พลัง 4 จีพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันพุธที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา

ไทยใช้งานอี-คอมเมิร์ซกว่า 2 ล้านล้าน

เทคโนโลยี 4 จี เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชี้ว่าเราได้ก้าวเข้าสู่โลกดิจิตอลอย่างเต็มตัวแล้ว ในโลกดิจิตอลประชาชนต้องเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้รวดเร็ว แม่นยำ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต ประมาณ 56% ของประชากร เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2558 ขณะนี้ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการใช้งาน อินเตอร์เน็ต มากกว่า 80% และผลสำรวจปี 2558 ระบุว่าคนไทยใช้งาน อี-คอมเมิร์ซ คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี

วันนี้เทคโนโลยีได้ก้าวรุดหน้าไปมาก เศรษฐกิจเข้าสู่ยุคของการแชร์ใช้ข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างกัน (Information and Knowledge Sharing) ก็คือพื้นฐานของ Collaborative Economy เพื่อ Innovation Driven ในระบบเศรษฐกิจนี้ใช้พลังจากการร่วมมือ และแชร์ใช้ข้อมูลองค์ความรู้อย่างไร้พรมแดน และ ส่งเสริมเกื้อหนุนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นำไปสู่นวัตกรรม (Innovation) ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะสินค้าหรือบริการมูลค่าสูงให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมถึงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กว้างขวางในเชิงสังคมอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


รัฐบาลปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจสังคมดิจิตอลอย่างยิ่ง ในส่วนของกระทรวงไอซีทีได้รับมอบหมายภารกิจขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ซึ่งกระทรวงร่วมกับภาคเอกชน ภาควิชาการ หน่วยงานรัฐ ได้พัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขึ้นมาเพื่อใช้เป็น Roadmap สำหรับประเทศไทยจะสามารถนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สร้างความเท่าเทียม ยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนไทยอย่างครอบคลุม ทำให้ประเทศไทยก้าวทันเวทีโลก

ผ่ายุทธศาสตร์แผนแม่บท

เรื่องเศรษฐกิจสังคมดิจิตอล ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า Digital Economy ไม่ใช่เรื่องที่เราจะทำตามแฟชั่น หลายประเทศได้รุดหน้าไปไกลการพัฒนา Digital Economy เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งเพราะประเทศคู่ค้าของไทยหลายประเทศได้เปลี่ยนนโยบายการค้าให้สอดคล้องกับการนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ประกอบการขยายบริการผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมในหลากหลายมิติ

ยุทธศาสตร์ในแผนแม่บทแบ่งเป็น 3 ระดับ 1.ระดับพื้นฐาน คือ การพัฒนากำหนดโครงสร้างของตลาดสำหรับโทรคมนาคม และ อุตสาหกรรมดิจิตอล การดูแลส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเรื่องการเข้าถึงตลาด การที่ประชาชน ผู้บริโภค จะได้ประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอล และการพัฒนาโครงสร้างโทรคมนาคมของประเทศให้รองรับ Digital Economy , ระดับต่อมา คือ การเร่งพัฒนากำลังคน บุคลากรให้มีทักษะ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งมิติทางเศรษฐกิจและสังคม และการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ และ ระดับสุดท้าย คือ การเร่งสร้างสภาพแวดล้อมภายในระบบนิเวศของ Digital Economy การส่งเสริมบ่มเพาะผู้ประกอบการรายใหม่ การสนับสนุน SMEs ให้เข้าถึง E-Commerce การสร้างความมั่นใจในระบบดิจตอล เช่น มีกฎหมายที่ทันสมัย มีการสร้างมาตรฐานสินค้า ฐานข้อมูลกลางเพื่อการค้า Online

นำร่องพัฒนาฯ 6 ด้านหลัก

กระทรวงไอซีที ได้นำร่องการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมดิจิตอลไปแล้ว 6 ด้าน คือ 1.การพัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน เช่นโครงการ Broadband ทุกพื้นที่ โครงการขยาย IIG ซึ่งจะสนับสนุนให้เกิดการแชร์ใช้ทรัพย์สิน ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล เป็นผลดีในด้านค่าใช้จ่ายกับผู้บริโภค (Infrastructure Sharing) ,2. ด้านสังคม – Digital Inclusion เมื่อโครงข่ายเข้าถึงพื้นที่ก็จำเป็นต้องมีเนื้อหา (Content) ที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนใช้ เช่น ด้านการศึกษา โครงการยกระดับเครือข่ายศูนย์ดิจิตอลชุมชนทั่วประเทศ ด้านการสาธารณสุข โครงการ Smart City ,3.ด้านเศรษฐกิจ – Digital Opportunity เน้นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs เสริมสร้างทักษะ ถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิตอล เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหม่ และตลาดใหม่ๆ ได้ รวมถึงการบ่มเพาะสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะ Tech Startups ในอุตสาหกรรมดิจิตอล เช่น ด้าน Content, Animation, Game ,4ใ ด้านบุคลากร/ทรัพยากรมนุษย์ เชื่อมโยงกับทุกด้านทั้งเศรษฐกิจและสังคม เกี่ยวข้องกับการสร้างทักษะ ความเข้าใจ รู้เท่าทันการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีโครงการด้านการศึกษา การฝึกอบรม สนับสนุน

ด้านที่ 5 คือ ด้านการสร้างความเชื่อมั่นในระบบ Digital Confidence ได้แก่ การให้มีชุดกฎหมายดิจิตอลที่ทันสมัย ทันโลกดิจิตอลที่ก้าวหน้า รวดเร็ว และการสร้างมาตรฐานสินค้าบริการในการค้าขาย E-Commerce ด้านความมั่นคงปลอดภัยทาง Cyber (Cyber Security) และสุดท้าย คือ ด้านการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่รัฐบาลดิจิตอลเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง เราต้องการพัฒนาไปถึงจุด ที่หน่วยงานรัฐมีการเชื่อมโยงด้านข้อมูล และการบริการอย่างครอบคลุม และทั่วถึง (Connected Government) สามารถแชร์ให้ข้อมูลระหว่างกัน สามารถให้บริการประชาชนได้แบบ “ไร้รอยต่อ” และสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาชน ผู้ประกอบการได้รับทราบและใช้เป็นประโยชน์ ต่อยอดกับนวัตกรรมใหม่ได้

UN ได้จัดอันดับความพร้อมประเภทต่างๆ ในด้าน การมี E-Government (E-Government Survey) ประเทศเกาหลีได้เป็นอันดับ 1 ในปี 2014 ต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว โดยเมื่อปี 2008 อยู่อันดับ 6 (ก่อนวิกฤต Subprime) ประเทศไทย อันดับ 102 ในปี 2014 โดยปี 2008 อยู่ที่อันดับ 64 โดยในกลุ่มประเทศ ASEAN เป็นประเทศสิงคโปร์ และ ประเทศมาเลเซียอยู่อันดับ 2 และ 52 ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 95 ประเทศเวียดนาม อันดับ 94 ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 106 ประเทศกัมพูชา อันดับ 139 ประเทศลาว อันดับ 152 และ ประเทศเมียนมา อันดับ 175 สิ่งซึ่งชี้ให้เห็นคือ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องยกระดับการพัฒนาดิจิตอลภาครัฐ ชี้ให้เห็นว่าไทยยังมีโอกาสที่จะยกระดับได้มาก แน่นอนว่ามีความท้าทายในการปรับเปลี่ยน

2 ปีวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้ง 6 ด้านนี้ กำลังขับเคลื่อนผ่านกลุ่มโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยแผนแม่บทได้กำหนดเป็นกรอบไว้ว่าในห้วง 2 ปีนี้ จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานวางรากฐานให้กับการพัฒนา Digital Economy ของไทย ต่อจากนั้น จะเป็นการขยายผลต่อเนื่อง ใน 5 ปี เราคาดหวังให้เห็นประชาชนชาวไทยมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจสังคมดิจิตอลอย่างทั่วถึง และใน 5-10 ปี เราคาดหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางชั้นแนวหน้าของการเชื่อมโยง Connectivity และ กิจกรรมด้านดิจิตอลของ Asia แห่งหนึ่งได้

หากดำเนินการได้ดังนี้ก็จะสอดรับกับแผนแม่บทการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับและการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ เป็น New S-Curve สร้างอุตสาหกรรม Digital เพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงในเวทีโลก ทั้งด้านการค้า ด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงการยกระดับปฏิรูปด้านการศึกษาของประเทศ ที่เทคโนโลยีมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างทักษะให้กำลังคนและประสบการณ์ให้สอดรับกับสภาพการณ์ วันนี้ประเทศไทยกำลังอยู่ในจุดที่สำคัญ 4 จี เป็นอีกหนึ่งในเทคโนโลยีใหม่สำหรับประเทศไทยที่จะสามารถสร้างคุณประโยชน์ได้มากมาย และวันหน้าเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่มาถึงอีก ดังนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในภาพรวมของประเทศ คือการที่เราต้องมีทิศทางการพัฒนาให้สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ มีระบบนิเวศที่เหมาะสม สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ระบบทั้งคนไทย และในต่างประเทศ ที่ล้วนสนใจในการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ

พ.ร.บ.กสทช.ถึงมือครม.สัปดาห์หน้า

นอกจากนี้นายอุตตม ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า กระทรวงไอซีทีได้เตรียมนำพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ พ.ร.บ.กสทช. 1 ใน 3 ฉบับ ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเร็วที่สุดภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นจะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป เพื่อปรับปรุงให้ กสทช.ทำงานคล่องตัวขึ้น พร้อมกับการนำ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล เสนอต่อ ครม.

นั่นหมายความว่า 4 จี ได้นำประเทศไทยเข้าสู่โลกดิจิตอลเต็มตัวแล้ว และพลัง 4 จีพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจไทย อย่างสิ้นเชิง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 – 6 เมษายน พ.ศ. 2559

http://www.thansettakij.com/2016/04/04/42009

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.