Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

20 มีนาคม 2559 เลขาธิการ กสทช.ฐากร หาก TRUE ยื่นข้อเสนอใหม่มาแบบนี้ คงเหลือเพียง AIS และ TOT เท่านั้นว่าจะยอมรับข้อเสนอหรือไม่ ถ้าเอไอเอสยินยอมที่จะทำตามข้อเสนอ ก็ให้ติดต่อเข้ามาเพื่อทำการหารือกันอีกครั้ง ก่อนจะมีการประชุม กทค. เพื่อออกใบอนุญาตให้กับทรูมูฟ เอชฯ

ประเด็นหลัก





ด้านนายฐากรกล่าวว่า หากทรูฯ ยื่นข้อเสนอใหม่มาแบบนี้ คงเหลือเพียงเอไอเอสและทีโอทีเท่านั้นว่าจะยอมรับข้อเสนอหรือไม่ ถ้าเอไอเอสยินยอมที่จะทำตามข้อเสนอ ก็ให้ติดต่อเข้ามาเพื่อทำการหารือกันอีกครั้ง ก่อนจะมีการประชุม กทค. เพื่อออกใบอนุญาตให้กับทรูมูฟ เอชฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 14 มี.ค.นี้ หากเอไอเอสไม่ยินยอม จะต้องปล่อยให้ซิมดับไป ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นมีลูกค้าที่ใช้บริการ 2 จี ที่ยังไม่เปลี่ยนซิมการ์ดเป็น 3 จี อยู่บนคลื่นนี้ ประมาณ 400,000 เลขหมาย
เอไอเอสจะเดินเกมอย่างไร ใช้ฟรี 5 เมกะเฮิรตซ์ หรือปล่อยซิมดับ คงต้องจับตาดูท่าทีต่อไป เพราะวันที่ 14 มี.ค.นี้ เอไอเอสจะแถลงจุดยืนลูกค้าจะต้องใช้งานได้ต่อเนื่อง

ระทึกทุกวินาที.









_____________________________________






สงครามศักดิ์ศรี..4จี คลื่น 900 แจส - ทรู - เอไอเอส


ระทึกทุกขณะกับกำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าใบอนุญาตงวดแรกของคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมการวางหนังสือค้ำประกันที่ออกให้โดยสถาบันการเงิน หรือแบงก์การันตี ซึ่งจะถึงเส้นตายในการจ่ายวันสุดท้าย คือวันที่ 21 มี.ค.2559

โดยผู้ชนะการประมูลในคลื่นย่านความถี่นี้ คือ บริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในยอดการประมูลชุดแรก ช่วงคลื่น 895-905/940-950 เมกะเฮิรตซ์ มูลค่ารวม 75,654 ล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ชุดที่ 2 ช่วงคลื่น 905-915/950-960 เมกะเฮิรตซ์ ราคา 76,298 ล้านบาท

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2559 เวลา 13.19 น. นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมด้วยทีมผู้บริหาร บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด เดินทางมาชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เป็นจำนวน 8,602.8 ล้านบาท) พร้อมด้วยการนำแบงก์การันตีวงเงิน 73,036.1 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) มาชำระตามเงื่อนไขการประมูลที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ด้าน บริษัท แจสโมบายฯ ยังคงไร้วี่แวว ไม่มีการแจ้งหรือติดต่อนัดวันเข้ามาชำระเงินแต่อย่างใด ซึ่งมีกระแสข่าวมาบ้างว่า บริษัทได้พูดคุยและขอปรึกษาว่า หากจะจ่ายเงินในส่วนค่าใบอนุญาตงวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีในอัตราที่ไม่เต็มจำนวนก่อนได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะทยอยจ่ายส่วนที่เหลือให้ครบทันวันที่ 21 มี.ค.นี้

แต่กระแสข่าวนี้ก็เงียบหายไป และด้วยยังไม่ถึงกำหนดเวลา กสทช.เองก็ได้แต่ร้องเพลงรอ เพราะยังคงเชื่อมั่นว่า สามารถรับมือได้ หากมีรายหนึ่งรายใดไม่นำเงินมาจ่ายหลังชนะการประมูลคลื่นไปแล้ว

0 หากเบี้ยวจ่าย! กสทช.พร้อมลงดาบ

โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ตามที่หลายฝ่ายกังวลใจว่าผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จะไม่นำเงินมาจ่ายนั้น สำนักงานฯ ขอยืนยันว่ามีโอกาสเป็นไปได้ยาก หรือไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย
เนื่องจากได้กำหนดเงื่อนไขการประมูลไว้อย่างรัดกุม ว่าหากผู้ชนะการประมูลไม่ชำระเงินค่าประมูลให้ครบถ้วนแล้ว ไม่เพียงแต่จะต้องถูกริบหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลรายนั้นยังจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น หากจะต้องมีการจัดประมูลคลื่นความถี่ใหม่เต็มจำนวน

นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบ อาจเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในใบอนุญาตประกอบการเดิมที่ได้รับจากสำนักงานฯ ที่ใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบันด้วย ยังไม่รวมถึงชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทที่จะต้องเสียไป หากไม่มาชำระเงินค่าประมูล
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมการ กทค. เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2559 ได้หารือในกรณีของกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่ระบุว่า ผู้ชนะการประมูลในคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะไม่จ่ายเงินค่าใบอนุญาต

ซึ่งที่ประชุมได้ลงความคิดเห็นว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นจริง ไม่มีการนำเงินมาชำระ กสทช.ก็ต้องทำตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในหนังสือยินยอมของผู้ขอรับใบอนุญาต เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยหนังสือยินยอม ผู้เข้าประมูลได้รับทราบก่อนประมูล

ทั้งนี้ หากต้องจัดการประมูลใหม่ แน่นอนว่าจะต้องใช้ราคาตั้งต้นที่มูลค่าของเงินประมูลที่ได้มาจากครั้งนี้ คือประมาณ 75,000 ล้านบาท เป็นราคาเริ่มเคาะประมูล และผู้ที่ไม่มาจ่ายเงินในครั้งนี้ จะถูกตัดสิทธิ์เข้าประมูลครั้งใหม่ทันที คาดว่าหากต้องจัดประมูลใหม่จริง จะสามารถจัดได้ภายใน 3 เดือน หลังจากวันครบกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 21 มี.ค.2559

0 ซิมดับใครรับผิดชอบ?

ทั้งนี้ เมื่อมีผู้ชนะการประมูลรายหนึ่งมาจ่ายเงินงวดแรกตามเงื่อนไขนั้น แผนเยียวยาบนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จะต้องสิ้นสุดลงเช่นกัน โดยจะยุติลงในวันที่บอร์ด กทค.ลงมติมอบใบอนุญาตอย่างเป็นทางการให้กับบริษัทที่ชนะการประมูลในคลื่นนี้ เพราะถือว่าคลื่นที่นำมาประมูลได้ถูกเปลี่ยนมือและมีเจ้าของใหม่แล้ว ผู้ให้บริการรายเดิมจะต้องยุติการให้สัญญาณบนคลื่นนั้น ซึ่งรายเดิมคือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส

ประเด็นนี้เองที่ทำให้เกิดการวิจารณ์กันอย่างหนักว่า ลูกค้าที่ยังไม่ถูกย้ายโอนจากซิมการ์ด 2 จี ไปอยู่บนระบบ 3 จี หรือ 4 จี นั้น จะทำอย่างไร เมื่อมติ กทค.ออกมาชัดเจนแล้วว่า จะไม่มีการขยายระยะเวลาแผนเยียวยาออกไปตามที่เอไอเอสเคยขอขยายแผนออกไปอีก 3 เดือน

ด้าน บริษัท ทรูมูฟ เอชฯ ได้เสนอว่า เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในเบื้องต้น หลังมาตรการเยียวยาขยายไม่ได้แล้ว ให้ กสทช.ใช้วิธีแผนมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำหรับกรณีการเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดบริการคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์แทน โดยให้ บมจ.เอไอเอสเช่าใช้คลื่น 900 จากทรูมูฟ เอช และ กสทช. โดยคิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นแล้วประมาณ 450 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งให้แผนคุ้มครองนี้มีเวลา 3 เดือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเป็นซิมการ์ด 3 จี หรือ 4 จี เพื่อใช้เบอร์เดิมต่อไปได้

เบื้องต้น บริษัท ทรูมูฟ เอชฯ เสนอให้นำคลื่นมาใช้ 10 เมกะเฮิรตซ์ จากทั้งหมด 20 เมกะเฮิรตซ์ แต่ทาง กทค.มองว่าให้นำคลื่น 900 ที่มีอยู่ทั้งหมดมาให้เอไอเอสเช่าใช้ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน ส่วนค่าใช้จ่ายที่เอไอเอสต้องจ่ายนั้น ทรูมูฟ เอชฯ จะรับไปในสัดส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น 10 เมกะเฮิรตซ์ และ กสทช.ก็รับในส่วน 10 เมกะเฮิรตซ์ที่เหลือ เพื่อเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน เนื่องจากจำนวนคลื่นในอีกใบอนุญาตนั้น บริษัท แจสโมบายฯ ยังไม่มีการนำเงินมาจ่าย คลื่นส่วนนี้ยังคงอยู่ในอำนาจ กสทช. ซึ่งประเด็นนี้ กสทช.จะนำคลื่นดังกล่าวมาให้เอไอเอสเช่าใช้นั้น ทำภายใต้กรอบของเงื่อนไขตามกฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทรูมูฟ เอชฯ ยังต้องมีการร่วมหารือกับทางบริษัทที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เอไอเอส และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการในส่วนโครงข่าย ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในข้อเสนอนี้ ซึ่ง กสทช.มองว่า เมื่อมาตรการเยียวยาไม่สามารถขยายเวลาได้ เพราะผิดเงื่อนไข ข้อเสนอนี้ก็จะช่วยให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกและเวลาในการเปลี่ยนซิมการ์ดเป็น 3 จี หรือ 4 จี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้บริการบนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์กว่า 8 ล้านราย

ปรากฏว่า หลังการเจรจา เอไอเอสไม่เล่นด้วยในข้อเสนอของทรูมูฟ เอชฯ โดยได้ชี้แจงว่า หากทำแผนคุ้มครอง บริษัทต้องการใช้คลื่นเพียง 5 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น เพื่อรองรับลูกค้าที่ยังคงค้างอยู่ในระบบ 2 จี คลื่น 900 จำนวน 400,000 ราย ซึ่งจะต้องเป็นคลื่นที่อยู่ในชุดแรกที่แจสโมบายฯ ชนะการประมูล เนื่องจากบริษัทมีการจูนสัญญาณในการย้ายโอนลูกค้าไว้แล้ว หากให้ใช้คลื่นในชุดที่ 2 อาจดำเนินการเปลี่ยนไม่ทัน

เมื่อผลการหารือกันตลอดระยะเวลา 2 วัน ไม่สามารถตกลงกันได้ เนื่องจาก กสทช.เองก็ระบุชัดเจนว่า ในคลื่นชุดที่ 2 แจสโมบายฯ ยังไม่นำเงินมาจ่ายนั้น กสทช.ไม่สามารถนำคลื่นส่วนนั้นมาให้เอไอเอสเช่าใช้ได้ เพราะจากเงื่อนไขตอนแรกนั้น กสทช.ต้องการให้ใช้ทั้ง 20 เมกะเฮิรตซ์ โดยไม่มีการเลือกชุดคลื่น หากดำเนินแบบนั้น จะสามารถทำได้

0 ทรูฯ ให้ใช้ฟรีถึงสิ้น พ.ค.นี้ ป้องกันซิมดับ

อย่างไรก็ดี ในวันที่ทรูมูฟ เอชฯ นำเงินมาชำระงวดแรก นายศุภชัยได้กล่าวว่า กรณีที่เอไอเอสไม่ยอมรับข้อเสนอที่บริษัทยื่นให้ เพื่อป้องกันซิมดับนั้น บริษัทขอยื่นข้อเสนอใหม่ว่าให้ใช้คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 5 เมกะเฮิรตซ์ แบบไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพื่อรองรับลูกค้า 2 จี จนกว่าบริษัทจะขยายเครือข่ายได้ครอบคลุมในเดือน พ.ค.2559 นี้

โดยบริษัทมีแผนขยายโครงข่ายตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และคาดว่าภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ จะสามารถขยายสถานีได้ถึง 16,000 แห่ง โดยเครือข่าย 900 เมกะเฮิรตซ์ จะครอบคลุมพื้นที่การให้บริการถึง 97% และภายในสิ้นปี จะขยายได้ถึง 22,000 แห่ง ซึ่งให้บริการทั้ง 2 จี, 3 จี และ 4 จี เน้นการบริการด้านเสียงเป็นหลัก

นายศุภชัยมองว่า การที่เอไอเอสทำการโรมมิ่งสัญญาณ 2 จี กับคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของ บมจ.โทเทิ่ล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ "ดีแทค" ที่มีลูกค้าใช้งานอยู่กว่า 8 ล้านราย อาจไม่ครอบคลุมลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งหากคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ดับลงในช่วงเวลาก่อนถึงเดือน พ.ค. ที่บริษัทจะขยายสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ ผู้ใช้งานในส่วนนั้นจะได้รับผลกระทบแน่นอน คาดว่าจะมีประมาณ 3-4 ล้านราย แม้ว่าลูกค้าส่วนนั้นจะเปลี่ยนมือถือ หรือเปลี่ยนซิมการ์ดแล้วก็ตาม

"มองว่าทุกคนต้องลงขันช่วยกัน กลุ่มทรูฯ ลงขันในส่วนของคลื่นให้ใช้ฟรี ส่วนทีโอทีลงขันในส่วนของอุปกรณ์และโครงข่าย และเอไอเอสลงขันในส่วนของการบริหารจัดการ เพื่อให้ลูกค้าที่อยู่ห่างไกลได้รับผลกระทบน้อยที่สุด กลุ่มทรูฯ มีความจริงใจถึงขั้นไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ เลย อยากให้ทุกฝ่ายพักเรื่องการแข่งขัน คู่แข่งไว้ก่อน แล้วให้มองถึงผลกระทบต่อผู้ใช้เป็นหลัก" นายศุภชัยกล่าว

ด้านนายฐากรกล่าวว่า หากทรูฯ ยื่นข้อเสนอใหม่มาแบบนี้ คงเหลือเพียงเอไอเอสและทีโอทีเท่านั้นว่าจะยอมรับข้อเสนอหรือไม่ ถ้าเอไอเอสยินยอมที่จะทำตามข้อเสนอ ก็ให้ติดต่อเข้ามาเพื่อทำการหารือกันอีกครั้ง ก่อนจะมีการประชุม กทค. เพื่อออกใบอนุญาตให้กับทรูมูฟ เอชฯ ซึ่งคาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 14 มี.ค.นี้ หากเอไอเอสไม่ยินยอม จะต้องปล่อยให้ซิมดับไป ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นมีลูกค้าที่ใช้บริการ 2 จี ที่ยังไม่เปลี่ยนซิมการ์ดเป็น 3 จี อยู่บนคลื่นนี้ ประมาณ 400,000 เลขหมาย
เอไอเอสจะเดินเกมอย่างไร ใช้ฟรี 5 เมกะเฮิรตซ์ หรือปล่อยซิมดับ คงต้องจับตาดูท่าทีต่อไป เพราะวันที่ 14 มี.ค.นี้ เอไอเอสจะแถลงจุดยืนลูกค้าจะต้องใช้งานได้ต่อเนื่อง
ระทึกทุกวินาที.

http://www.thaipost.net/?q=สงครามศักดิ์ศรี4จี-คลื่น-900-แจส-ทรู-เอไอเอส

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.