Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

03 มกราคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณี กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะทำให้ค่าบริการในอนาคตสูงขึ้นหรือไม่ว่า

ประเด็นหลัก


       "บิ๊กตู่"ย้ำประมูล4Gค่าบริการต้องถูกกว่าเดิม
     
       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณี กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะทำให้ค่าบริการในอนาคตสูงขึ้นหรือไม่ว่า " ผมสั่งไปหรือเปล่าว่า เขามีเงื่อนไขว่าต้องราคาถูกกว่าของเดิม เขาก็พูดมา 3 รอบแล้วว่า นายกฯ มีนโยบายอย่างนั้น ไม่ว่าจะสูงเท่าไหร่ก็ราคาบริการต้องไม่แพง ใช่หรือเปล่า มีใครสั่งแบบนี้ไหม รัฐบาลไหนสั่งบ้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าว





__________________________________________________________






กางแผน 4G ทรู/แจส หุ้นสื่อสารร่วงยกแผง"บิ๊กตู่"ย้ำค่าบริการต้องถูก

        ทรูมั่นใจหลังชนะประมูลคลื่น900 MHz จะสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดได้เป็น 34% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้ราคาที่ประมูลคุ้มค่า เพราะช่วยลดต้นทุนค่าโครงข่าย 45,000 ล้านบาท ที่สำคัญถือเป็นการชิงคลื่นจากคู่แข่งได้สำเร็จ ด้าน 'แจส โมบาย' ตั้งเป้าลูกค้า 2 ล้านรายในปีแรก ก่อนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างต่ำ 5 ล้านรายใน 3 ปี ทุ่มงบลงทุนโครงข่าย 2 หมื่นล้านบาท ด้านกทค.รับรองผลประมูลแล้ว ขณะที่หุ้นกลุ่มสื่อสารร่วงยกแผง DTAC หนักสุดดิ่ง 26.97% ตามด้วย JAS ลบ 22.59% ขณะที่กลุ่มเอไอเอสทั้ง INTUCH และ ADVANC ลบ 20.00% และ19.43% TRUE น้อยสุดแค่ 8.97% นักวิเคราะห์ ประสานเสียงปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มสื่อสารเพราะต้นทุนที่สูงมาก นำไปสู่การปรับลดประมาณกำไรในปี 2559
     
       นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz ที่ผ่านมา ทำให้ทรูเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่รวม 55 MHz โดยทรูจะทำการบริหารจัดการคลื่นความถี่ให้มีประสิทธิภาพ โดยได้ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาดไว้ที่ 34% ในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% จากมูลค่าตลาดรวมโทรคมนาคมอยู่ที่ 2.4แสนล้านบาท ซึ่งทรูจะทำการลงทุนเพิ่มเติมอีก 55,000 ล้านในอีก 3 ปีข้างหน้านี้
     
       ทั้งนี้การประมูลคลื่นความถี่ครั้งล่าสุดนี้จะทำให้ทรูเป็นผู้ถือครองคลื่นความถี่รวมทั้งสิ้น 4 คลื่นประกอบด้วยคลื่นความถี่ 850MHz, 900MHz, 1800MHz และ 2100 MHz ซึ่งจะทำให้ทรูสามารถบริหารจัดการการใช้งานคลื่น 2G-4G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงของการประกอบธุรกิจในระยะยาว และจะสามารถขยายฐานลูกค้าของทรูมูฟเอชที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
     
       "คลื่นความถี่ 900 MHz ว่าเป็นคลื่นที่มีประสิทธิภาพ และการประมูลในราคาที่ได้มาถือว่าไม่แพง เนื่องจากเป็นคลื่นที่มีลูกค้าใช้งานอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีลูกค้าที่ใช้งาน 2G ในคลื่นความถี่ 900MHz อยู่ประมาณ 15 ล้านราย ไม่ใช่คลื่นเปล่าเหมือนในต่างประเทศ รวมถึงเป็นคลื่นที่มีอุปกรณ์และชิปเซ็ตที่มีความพร้อมอยู่แล้ว จึงช่วยลดต้นทุนในการขยายโครงข่ายได้กว่า 45,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีมูลค่าและมีศักยภาพในการพัฒนาสูงมาก โดยเฉพาะการใช้สัญญาณภายในอาคาร จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก นอกจากนี้ยังถือเป็นการทำให้คู่แข่งมีแบนด์วิธที่ลดลงด้วย"
     
       ปัจจุบันทรูมีหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 2.5 เท่า แต่เนื่องจากเงื่อนไขในการชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz ในครั้งนี้ถือว่ามีความยืดหยุ่นมาก ประกอบกับทรูยังมีช่องทางในการจัดสรรแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการชำระค่าใบอนุญาตและเพื่อพัฒนาโครงข่ายที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระแสเงินสดของบริษัท เงินกู้ หรือสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมไปถึงการจำหน่ายสินทรัพย์เพิ่มเติมเข้ากองทุนและหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมดิจิตอล (DIF) อีกทั้งยังได้รับเครดิตจากกลุ่มผู้จำหน่ายอุปกรณ์ (Vendor Financing) อีกด้วย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าทรูจะพร้อมเดินหน้าพัฒนาเครือข่ายและบริการได้อย่างต่อเนื่อง
     
       'แจส โมบาย' หวังลูกค้า 3 ปี 5 ล้านราย
     
       นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด และ กรรมการบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก้าวนี้เป็นก้าวสำคัญของกลุ่มจัสมิน ในการที่ประมูลได้คลื่น 900 MHz หลังจากให้บริการบรอดแบนด์มาหลายปีแล้ว
     
       "การที่เลือกคลื่น 900 MHz เพราะว่ามีต้นทุนที่ต่ำ การลงทุนถูกกว่า 1800 MHz แน่นอน และขอบคุณทาง กสทช. ที่มีการปรับรูปแบบการชำระเงินค่าใบอนุญาต แตกต่างจาก 1800 MHz ที่จ่ายงวดแรก 50% แต่ 900 MHz จ่าย 8,040 ล้านบาทในปีแรก และจะชำระส่วนหลักในปีที่ 4 ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นรายใหม่สามารถเข้าไปในตลาดได้"
     
       โดยวางเป้าหมายในปีแรก คือ ตั้งเป้าลูกค้าไว้ 2 ล้านเลขหมาย โดยมีฐานลูกค้า 3BB เดิมอยู่แล้ว 2 ล้านครัวเรือน ซึ่งแต่ละครัวเรือนอาจมีลูกค้าเป้าหมายได้อีกราว 2-3 คน รวมเป็น 6-8 ล้านราย และเชื่อว่าภายใน 3 ปีข้างหน้าจะมีลูกค้าอย่างน้อย 5 ล้านราย โดยจะเริ่มให้บริการในช่วงต้นปี 2559 ให้เร็วที่สุด
     
       ขณะที่ในแง่ของการลงทุนจากใบอนุญาตที่ราคา 75,654 ล้านบาท รวมถึงการลงทุนในอนาคต ทาง แจส จะมีเงินจากทั้งกองทุน JASIF รายได้จากการให้บริการ 3BB การออก Warrant ถ้าได้ครบตามจำนวนก็จะได้เพิ่มอีก 1.5 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมกับโปรเจกต์ไฟแนนซิ่ง ที่ได้มีการพูดคุยกับธนาคารใหญ่ ทำให้วงเงินรวมตรงนี้ทั้งหมดมีหลายหมื่นล้านบาท
     
       'เงินลงทุนที่เตรียมไว้ถือว่าเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจนี้แล้ว ถ้าธุรกิจสามารถเติบโตได้เร็วก็จะสามารถทำ IPO ของทาง แจส โมบาย ได้อีก รวมถึงการใช้ประโยชน์จากกองทุน JASIF ที่มีมูลค่ากองทุนกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท ที่สามารถกู้เงินได้อีก 3 เท่า ในการมาซื้อทรัพย์สินของ แจส โมบาย ในอนาคต'
     
       "ในจุดนี้ไม่ได้มีการลงทุนในแง่ของหน้าร้านเพิ่ม อาจจะมีลงทุนในแง่ของบุคลากรเพิ่มในหลักร้อย เพราะธุรกิจมือถือมีดิสทริบิวเตอร์รายหลักๆ อยู่แล้ว จึงเน้นไปที่การลงทุนโครงข่ายมากกว่าที่วางไว้เบื้องต้น 20,000 ล้านบาท ในการทยอยลงทุนใน 3 ปีข้างหน้า"
     
       กทค.รับรองผลประมูล
     
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติรับรองผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ผู้ชนะการประมูลในคลื่นชุดที่ 1 คือ คลื่นความถี่ 895-905 MHz คู่กับ 940-950 MHz ด้วยราคาสุดท้ายที่เสนอ 75,654 ล้านบาท และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลในคลื่นชุดที่ 2 คือ คลื่นความถี่ 905-915 MHz คู่กับ 950-960 MHz กับราคาสุดท้ายที่เสนอ 76,298 ล้านบาท
     
       หุ้นสื่อสารกอดคอร่วงยกแผง
     
       บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (21 ธ.ค.) ได้รับแรงกดดันจากหุ้นกลุ่มสื่อสารที่ปรับตัวลดลงถ้วนหน้า จากความกังวลราคาประมูล 4G คลื่น 900 MHz ที่สูงมากเกินไปจนอาจจะส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทที่ชนะการประมูล ขณะที่ราคาหุ้นของบริษัทที่แพ้ประมูลก็อาจจะกระทบต่อแผนการดำเนินงานในอนาคตเช่นกัน
     
       สำหรับหลักทรัพย์กลุ่มสื่อสารที่ปรับตัวลดลงมากที่สุดคือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ราคาปิดที่ 27.75 บาท ลดลง 10.25 บาท หรือลดลง 26.97% มูลค่าการซื้อขาย 2,248.57 ล้านบาท บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ปิดที่ 3.70 บาท ลดลง 1.08 บาท หรือ 22.59% มูลค่า 4,994.70 ล้านบาท
     
       บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH)ปิดที่ 50 บาท ลดลง 12.50 บาท หรือ 20.00% มูลค่า 7,296.03 ล้านบาท อินบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ปิดที่ 155.50 บาท ลดลง 37.50 บาท หรือ 19.43% มูลค่า 14,413.04 ล้านบาท และบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ปิดที่ 6.60 บาท ลดลง 0.65 บาท หรือ 8.97% มูลค่า 2,434.30 ล้านบาท
     
       นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า หลังจากการประมูลคลื่น 900 MHz จบสิ้นลง ส่งผลให้ TRUE มีคลื่นในมือมากที่สุด 4 คลื่น รวม 55 MHz ทำให้ TRUE มีประสิทธิภาพในการให้บริการสูงสุดในปัจจุบัน แต่สิ่งที่น่ากังวลมากสุดคือ ต้นทุนเฉลี่ยต่อปีที่เพิ่มขึ้น คาดจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 1.36 แสนล้านบาท
     
       ส่วนผู้ชนะรายที่ 2 JAS ที่ได้ใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ไป แต่ด้วยปัจจุบันไม่มีฐานลูกค้ามือถือ มีเพียงฐานลูกค้าที่ใช้ Internet บรอดแบนด์ราว 1.8 ล้านรายเท่านั้น และมีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย หรือ ARPU Broadband Service ณ สิ้นไตรมาส 3/58 อยู่ที่ราว 570 บาทต่อลูกค้ารายต่อเดือน ขณะที่ต้นทุนรวมของ JAS จะพุ่งขึ้นเป็น 560 บาทต่อเดือน หาก JAS ต้องการเน้นให้บริการ Non-voice เต็มรูปแบบ
     
       นายศุภชัย วัฒนวิเทศกุล นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กล่าวว่า ได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มสื่อสาร จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากโครงสร้างอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป โดยคงคำแนะนำ “ซื้อ” ADVANC ราคาเหมาะสมที่ 229 บาท DTAC “ขาย” ราคาเหมาะสมที่ 30 บาท TRUE “รอสะสม” หลังเพิ่มทุน และ JAS “ยังต้องหลีกเลี่ยง” จากความเสี่ยงต้องเพิ่มทุนและจากประเมินต้นทุนการลงทุน
     
       "บิ๊กตู่"ย้ำประมูล4Gค่าบริการต้องถูกกว่าเดิม
     
       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึงกรณี กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น จะทำให้ค่าบริการในอนาคตสูงขึ้นหรือไม่ว่า " ผมสั่งไปหรือเปล่าว่า เขามีเงื่อนไขว่าต้องราคาถูกกว่าของเดิม เขาก็พูดมา 3 รอบแล้วว่า นายกฯ มีนโยบายอย่างนั้น ไม่ว่าจะสูงเท่าไหร่ก็ราคาบริการต้องไม่แพง ใช่หรือเปล่า มีใครสั่งแบบนี้ไหม รัฐบาลไหนสั่งบ้าง" นายกรัฐมนตรี กล่าว


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000139752&utm_source=MadMimi&utm_medium=email&utm_content=MGR+Morning+Brief+22-12-58&utm_campaign=20151221_m128972022_MGR+Morning+Brief+22-12-58&utm_term=_E0_B8_81_E0_B8_B2_E0_B8_87_E0_B9_81_E0_B8_9C_E0_B8_99+4G+_E0_B8_97_E0_B8_A3_E0_B8_B9_2F_E0_B9_81_E0

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.