Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

11 ตุลาคม 2558 (เกาะติดประมูล4G) แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการล็อบบี้ของกลุ่มที่ต้องการบริหารความถี่ 900 MHz ต่อไปโดยไม่ต้องการให้เกิดการประมูล ซึ่งในวงสนทนาที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ และทีโอที ได้ถกเถียงอย่างหนักระหว่างหากความถี่ 900 MHz

ประเด็นหลัก




       แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการล็อบบี้ของกลุ่มที่ต้องการบริหารความถี่ 900 MHz ต่อไปโดยไม่ต้องการให้เกิดการประมูล ซึ่งในวงสนทนาที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ และทีโอที ได้ถกเถียงอย่างหนักระหว่างหากความถี่ 900 MHz อยู่ในมือทีโอที แล้วจะมีแผนบริหารจัดการความถี่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และองค์กรอย่างไร ในเมื่อปัจจุบันบริการ 3G ของทีโอทีอยู่ในภาวะโคม่า โดยเปรียบเทียบกับการเปิดประมูล
   












_____________________________________________



4 บริษัทยื่นซองประมูล 1800 MHz สหภาพทีโอทีเดินหน้าประท้วงประมูล 900 MHz


     
       เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยเปิดให้ยื่นได้ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ที่อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงาน กสทช. โดยมีผู้สนใจเข้ายื่นซองประมูล จำนวน 4 ราย เพื่อชิงใบอนุญาตที่มี 2 ใบอนุญาต จำนวนใบละ 15 MHz ขณะที่สหภาพฯ ทีโอที เดินขบวนยื่นหนังสือถึงบอร์ดทีโอที, สผผ., สตง.และ ป.ป.ช. เอาผิดบอร์ดทีโอที และ กสทช.กรณีนำคลื่น 900 MHz ไปประมูล
     
       สำหรับบริษัทแรกที่เข้ายื่นประมูลความถี่ 1800 MHz คือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ บริษัทในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) โดยมีนายสมบัติ พันศิริพัฒน์ กรรมการบริษัทเป็นตัวแทนเข้ายื่น ถัดมาเวลา 08.48 น. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เข้ายื่นเอกสาร โดยมีนายรัฐฉัตร ศิริพานิช ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เป็นตัวแทน จากนั้นเวลา 10.30 น.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส โดยมี นายสุทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนาบริษัท เป็นตัวแทน ส่วนบริษัทสุดท้ายที่มาคือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มายื่นเวลา 16.04 น.โดยมี นายธิติฏฐ์ นันทพัฒน์สิริ ผู้อำนวยการบริหารด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทเป็นตัวแทน
     
       พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า ขั้นตอนในการดำเนินการในวันที่ 30 ก.ย.มี 3 ขั้นตอน เริ่มจากการลงทะเบียน และลงเวลา การยื่นเอกสาร จากนั้นจะเป็นขั้นตอนตรวจเอกสารเบื้องต้น โดยบริษัทผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่จะต้องส่งมอบเอกสารทั้งหมด ได้แก่ แบบคำขอรับใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่พร้อมเอกสารประกอบ และสำเนาเอกสาร 2 ชุด เอกสารบันทึกลงซีดี และค่าพิจารณาคำขอ จำนวน 535,000 บาท ต่อสำนักงาน กสทช. หลังยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ขณะที่จะรับคำขอเพื่อตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสาร โดยหากพบว่าเอกสาร หรือหลักฐานสำหรับการพิจารณาคุณสมบัติไม่ครบถ้วน เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้บริษัททราบเพื่อดำเนินการแก้ไขทันที หากเอกสารครบถ้วนแล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้บริษัททราบผลการตรวจสอบในเบื้องต้น
     
       ทั้งนี้ ภายหลังจากรับแบบคำขอและเอกสารในรายละเอียดจะเป็นขั้นตอนพิจารณาคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต แล้วจึงนำเสนอ กทค.พิจารณาโดยจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลภายใน 15 วันนับจากวันที่รับเอกสารคำขอครบถ้วน ซึ่งผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตสามารถอุทธรณ์ผลการพิจารณาได้ภายใน 3 วันนับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณา จากนั้นในช่วงวันที่ 3 พ.ย.58 จะนำสื่อมวลชนชมสถานที่ที่จะใช้ในการจัดประมูล และมีการชี้แจงรายละเอียด โดยจะจัดการประมูลรอบสาธิต และในวันที่ 11 พ.ย.58 จะเป็นวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศผู้ชนะการประมูลได้ภายใน 7 วันหลังจากการประมูลสิ้นสุด
     
       พ.อ.เศรษฐพงค์ ย้ำว่า หลังจากมอบใบอนุญาตแก่ผู้ชนะการประมูลแล้ว ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ โดยอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพกเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
     
       “เงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ได้พัฒนาขึ้นมาก มีการแก้ไขจุดอ่อนจากการประมูลในครั้งก่อน ซึ่งจะดำเนินการด้วยความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น ทำให้ประเทศชาติ และประชาชนได้ประโยชน์ขึ้นมาก เช่น ราคาตั้งต้นที่สูงขึ้นทำให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้น เงื่อนไขคุ้มครองผู้บริโภคที่จะต้องกำหนดราคาค่าบริการถูกลง และมีคุณภาพที่ดีขึ้น ซึ่งในภาคธุรกิจแทบจะทุกสาขาจะได้ประโยชน์จาก 4G ประชาชนได้ประโยชน์มากขึ้นจากความเร็วเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สามารถใช้บริการทางดิจิตอลได้อย่างเต็มรูปแบบ เป็นการตอบสนองเป็นนโยบาย Digital Economy ของรัฐบาลอีกด้วย”
     
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย ทำให้ราคาเริ่มประมูลขั้นต่ำจะอยู่ที่ 15,912 ล้านบาท คิดเป็นราคาขั้นต่ำ 80% ของมูลค่าคลื่น ผู้ประมูลต้องประมูลเพิ่มขึ้นครั้งละ 796 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งละ 5% ของมูลค่าคลื่น เมื่อถึง 19,890 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าคลื่น 100% ราคาประมูลจะเพิ่มขึ้นเหลือครั้งละ 398 ล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งละ 2.5% ซึ่งจะทำให้รัฐได้รายได้ขั้นต่ำ 33,416 ล้านบาท
     
     


     
       ***สหภาพฯ ทีโอทีเดินหน้าไล่บอร์ด
     
       นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 สหภาพฯ ทีโอทีพร้อมพนักงานกว่า 500 คน ร่วมกันเดินขบวนยื่นหนังสือให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของบอร์ดทีโอทีบางคนที่ไม่รักษาผลประโยชน์ขององค์กรที่ปล่อยให้ความถี่ 900 MHz ที่หมดสัญญาสัมปทานกับเอไอเอส ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ถูก กสทช. นำไปประมูล ทั้งๆ ที่คลื่นความถี่ต้องคืนกลับมาที่ทีโอที ดังนั้น กสทช.จึงไม่มีสิทธิในการนำคลื่นดังกล่าวมาประมูลจึงต้องการให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ด้วย
     
       โดยเมื่อเวลา 11.30 น.(30 ก.ย.) สหภาพฯ ทีโอที ได้เดินขบวนไปทวงถามบอร์ดทีโอทีถึงความชัดเจนดังกล่าวเพื่อให้ดำเนินการลงมติเพื่อฟ้องร้องต่อศาล หลังจากที่ได้ยื่นหนังสือถึงบอร์ดหลายครั้งแล้วแต่ไม่มีคำตอบ โดยมี นายมนต์ชัย หนูสง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที เป็นผู้ลงมารับหนังสือ จากนั้นได้เดินขบวนไปยัง สผผ.โดยมี นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษก เป็นผู้รับหนังสือ จากนั้นจึงไปยื่นหนังสือที่ สตง. และ ป.ป.ช. ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
     
       ด้าน นายมนต์ชัย กล่าวว่า ตนเป็นตัวแทนรับหนังสือจากสหภาพฯ ทีโอที เนื่องจาก พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ประธานบอร์ดทีโอที ติดภารกิจไม่สามารถมารับได้ โดยหลังจากรับหนังสือได้ชี้แจงให้สหภาพฯ ทีโอที ต้องแยกเรื่องที่ร้องเรียนออกเป็น 3 ประเด็นให้เข้าใจ เนื่องจาก 2 ประเด็นแรกเป็นเรื่องคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องการแก้สัญญาร่วมการงานที่มีมูลค่าความเสียหาย 7.2 หมื่นล้านบาท
     
       “เราต้องแยกเรื่อง และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่นำมารวมกันแล้วจะเอาผิดกันอย่างเดียว เรื่องคลื่น 900 MHz ไม่ใช่เรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับเอไอเอส เนื่องจากเป็นการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องต่อ กสทช. และทีโอที เป็นเรื่องของสิทธิการใช้คลื่น แต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ระบุว่า เมื่อสิ้นสุดสัมปทานคลื่นต้องเป็นสิทธิของ กสทช.เพื่อนำไปประมูล เราต้องมาดูว่าช่องทางในแง่กฎหมายเราสามารถทำอะไรได้บ้าง คลื่น 900 MHz เรื่องนี้เรายังมีสิทธิหรือไม่ แต่ถ้าเรามีสิทธิแล้วทำไมสิทธิของเราหายไป ส่วนกรณีสัญญาร่วมการงานทีโอที และเอไอเอส คงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาหลัก”
     
       *** กสทช.เดินหน้าประมูลหากไม่มีคำสั่ง คสช.- ศาลปกครอง
     
       ด้าน นายฐากร เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า กระบวนการประมูลคลื่น 900 MHz ยังคงเดินหน้าตามแผนการที่วางไว้จนกว่าจะมีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือคำสั่งจากศาลปกครองเท่านั้นถึงจะหยุดดำเนินการได้ ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ให้บริการที่เหลือในระบบประมาณ 2.4 ล้านเลขหมายนั้น เอไอเอสจะเป็นผู้ดูแลลูกค้า ส่วนทีโอทีจะได้ค่าเช่าเสาโทรคมนาคม ซึ่ง กสทช.จะเป็นผู้กำหนด โดยเอไอเอสต้องจ่ายเงินให้ กสทช.เป็นเปอร์เซ็นต์มากกว่า หรือเท่ากับที่เคยจ่ายส่วนแบ่งตามสัญญาสัมปทานกับทีโอที หรือประมาณ 20% โดยคิดที่รายได้เป็นหลัก ไม่ใช่คิดหลังจากหักค่าใช้จ่าย เหมือนกรณีเยียวยาคลื่น 1800 MHz ซึ่งจะมีปัญหาที่ผู้ให้บริการอ้างว่าขาดทุน และไม่ยอมจ่ายเงินให้ กสทช.
     
       *** อยากได้ 900 MHz ทีโอทีต้องตอบคำถามนี้
     
       แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการล็อบบี้ของกลุ่มที่ต้องการบริหารความถี่ 900 MHz ต่อไปโดยไม่ต้องการให้เกิดการประมูล ซึ่งในวงสนทนาที่ประกอบไปด้วยผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้รับนโยบายมาปฏิบัติ และทีโอที ได้ถกเถียงอย่างหนักระหว่างหากความถี่ 900 MHz อยู่ในมือทีโอที แล้วจะมีแผนบริหารจัดการความถี่ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และองค์กรอย่างไร ในเมื่อปัจจุบันบริการ 3G ของทีโอทีอยู่ในภาวะโคม่า โดยเปรียบเทียบกับการเปิดประมูล
     
       ทั้งนี้ ประเด็นการขอคงสิทธิการใช้งานคลื่น 900 MHz ของทีโอทีนั้นจะเกิดความเสียหายหลายอย่าง เช่น 1.รัฐบาลขาดโอกาสรายได้จากการนำคลื่น 900 MHz มาประมูลเพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐเป็นจำนวนหลายหมื่นล้าน 2.อุตสาหกรรมขาดโอกาสในการลงทุนสร้างโครงข่ายบนคลื่น 900 MHz (ถ้าทีโอทีลงทุนเองจะทำให้ตัวเลขหนี้สาธารณะของรัฐบาลเพิ่มขึ้น) เป็นจำนวนหลายหมื่นล้าน และขาดโอกาสสร้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ หลายพันตำแหน่ง 3.อุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวข้องขาดโอกาสที่จะขยายพื้นที่บริการบนโครงข่ายใหม่ของคลื่น 900 MHz เป็นจำนวนแสนล้าน และขาดโอกาสสร้างงานในตำแหน่งใหม่ๆ หลายหมื่นตำแหน่ง
     
       4.ก่อให้เกิดปัญหาการกักตุนคลื่นความถี่ (Spectrum Hoarding) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขัน โดย ทีโอที นอกเหนือจากคลื่นย่าน 900 MHz แล้ว ยังมีคลื่นความถี่ย่านอื่นเป็นจำนวนมากที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็น 3G หรือ 4G ได้ และสามารถมีสิทธิการใช้ได้ถึงปี 2568 ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน15x2 MHz ที่ทีโอทีได้สิทธิการใช้มาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการเพียง 400,000 ราย คลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ที่มีขนาด 64x1 MHz สามารถให้บริการ 4G TD-LTE ได้ คลื่นความถี่ย่าน 1900 MHz ที่มีขนาด 15x1 MHz สามารถให้บริการ 4G TD-LTE ได้ และ 5.ราคาการให้บริการกับประชาชนบนคลื่นความถี่ 2100 MHz ที่ผ่านการประมูลให้บริการประชาชนบนเทคโนโลยี 3G, 4G ในราคา 84 สตางค์ต่อนาที และในการประมูลคลื่นย่าน 1800 MHz ผู้ชนะการประมูลจะมีเงื่อนไขในการลงราคาการให้บริการลงไปที่ 75 สตางค์ต่อนาที ในขณะที่คลื่นย่าน 900 MHz ที่อยู่ใต้สัมปทานทีโอที มีการให้บริการที่ 99 สตางค์ต่อนาที


http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9580000110145&utm_source=MadMimi&utm_medium=email&utm_content=Manager+Morning+Brief+1-10-58&utm_campaign=20151001_m127598287_Manager+Morning+Brief+1-10-58&utm_term=4+_E0_B8_9A_E0_B8_A3_E0_B8_B4_E0_B8_A9_E0_B8_B1_E0_B8_97_E0_B8_A2_E0_B8_B7_E0_B9_88_E0_B8_99_E0_B8_8B_E0_B8_AD_E0_B8_87_E0_B8_9B_E0_B8_A3_E0_B8_B0_E0_B8_A1_E0_B8_B9_E0_B8_A5+1800+MHz+_2F+_E0_B8_AA_E0_B8_AB_E0_B8_A0_E0_B8_B2_E0_B8_9E_E0_B8_97_E0_B8_B5_E0_B

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.