Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

23 สิงหาคม 2558 (บทความ) ทำความรู้จักเทคโนโลยี "5G" การมาถึงของ Internet of Things // คาดการณ์ว่าในปี 2025 ความต้องการใช้ดาต้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 1,000 เท่า เทคโนโลยี 5G จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถรองรับความต้องการได้มาก ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน รองรับการเชื่อมต่อได้ทีละมาก ๆ

ประเด็นหลัก


โดยคาดการณ์ว่าในปี 2025 ความต้องการใช้ดาต้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 1,000 เท่า เทคโนโลยี 5G จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถรองรับความต้องการได้มาก ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน รองรับการเชื่อมต่อได้ทีละมาก ๆ และมีคุณภาพความเร็วสูง โดยมีการประเมินว่าความเร็วเฉลี่ยของเทคโนโลยี 5G จะเฉลี่ยราว 1 Gbps สูงสุดได้ถึง 5 Gbps



_____________________________________________________










ทำความรู้จักเทคโนโลยี "5G" การมาถึงของ Internet of Things



11 พ.ย.นี้ ไทยจะมีการประมูล 4G แต่ในต่างประเทศกำลังเร่งมือพัฒนาเทคโนโลยี 5G กันอย่างเข้มข้น เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคในยุค Internet of Things คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ เปิดเวที "Evolution toward 5G-Next Generation Mobile Network : 5G เทคโนโลยีแห่งอนาคต"

"ฮิโรชิ โอกาซากิ" ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท NTT DoCoMo ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงวิวัฒนาการของโมบายเทคโนโลยีว่า เริ่มตั้งแต่ยุค 1G หรือระบบแอนะล็อก ในปี ค.ศ. 1980 ก่อนจะพัฒนาเข้าสู่ยุค 2G ที่เริ่มเป็นดิจิทัลในปี 1990 แต่ก็ยังมีบริการด้านเสียงและข้อความสั้น (SMS) จนถึงยุค 3G ในปี 2000 จึงได้เห็นการส่งทั้งภาพและเสียง รวมถึงวิดีโอได้ ก่อนที่จะเริ่มเทคโนโลยี 4G/LTE ในปี 2010 ที่โดดเด่นเรื่องความเร็วในการใช้โมบายอินเทอร์เน็ต ขณะที่ 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสื่อสารในยุคถัดไป ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน ต่างกำลังพัฒนาเทคโนโลยีนี้อย่างเต็มที่เพื่อจะผลักดันให้เปิดให้บริการได้จริงในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ก็เริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับการวางมาตรฐานเทคโนโลยี 5G แล้วเช่นกัน



หากเทียบความเร็วในการรับส่งข้อมูลผ่านโมบายอินเทอร์เน็ต 3G ความเร็วเฉลี่ยราว 1 Mbps สูงสุดไม่เกิน 10 Mbps แต่เทคโนโลยี 4G LTE จะมีความเร็วมากกว่านี้ถึง 10 เท่าคือ ความเร็วเฉลี่ยจะอยู่ที่ 10 Mbps และสูงสุด 100 Mbps และหากพัฒนาไปสู่ LTE-Advanced ความเร็วเฉลี่ยจะขึ้นไปสูงสุด 600 Mbps โดย NTT DoCoMo เพิ่งเปิดให้บริการ LTE-Advanced (LTE-A) ในญี่ปุ่นไปเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

"หากถามว่า 5G คืออะไร คำตอบคือ การเป็นเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันในทุกภาคส่วนของสังคมและมีความเป็นอัจฉริยะ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า 1 คนจะมีอุปกรณ์ดีไวซ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเป็นอย่างน้อย 3 ชิ้นติดตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เริ่มมีแล้วทั้งคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก สมาร์ทโฟน ในอนาคตจะเกิด Multiple Personal Device ทั้งในระบบการขนส่งสาธารณะ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บ้าน อุปกรณ์เซ็นเซอร์ต่าง ๆ คลาวด์จะเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงกลุ่มการศึกษา การแพทย์ และเกิดสังคมที่เรียกว่า Internet of Things (IOTs) อย่างสมบูรณ์"

โดยคาดการณ์ว่าในปี 2025 ความต้องการใช้ดาต้าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 1,000 เท่า เทคโนโลยี 5G จะกลายเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีคุณสมบัติเด่น คือ สามารถรองรับความต้องการได้มาก ประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน รองรับการเชื่อมต่อได้ทีละมาก ๆ และมีคุณภาพความเร็วสูง โดยมีการประเมินว่าความเร็วเฉลี่ยของเทคโนโลยี 5G จะเฉลี่ยราว 1 Gbps สูงสุดได้ถึง 5 Gbps

ปัจจุบัน NTT DoCoMo ได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ถึง 13 ราย อาทิ Huawei, Fujitsu, NEC, Ericsson, Samsung, Mitsubishi, Nokia, intel ในการพัฒนา 5G ทั้งในส่วนของเทคโนโลยี อุปกรณ์รับส่งสัญญาณและโครงข่าย เพื่อให้มีคุณภาพสัญญาณและพื้นที่การรับส่งสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พร้อมเปิดให้บริการในปี 2020

"ภาณุวัฒน์ จันทร์ภักดี" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าในต่างประเทศจะยังไม่เริ่มให้บริการ 5G แต่ประเทศชั้นนำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่างกำลังวิจัยและมีนโยบายแผนการใช้ 5G อย่างชัดเจน เช่น ในญี่ปุ่นวางเป้าหมายจะให้บริการในปี 2020 และหาก ITU วางมาตรฐานอุปกรณ์ 5G เรียบร้อยก็จะทำให้ประเทศต่าง ๆ มีเกณฑ์ในการวางกรอบพัฒนา 5G ของแต่ละประเทศได้ ซึ่งเทคโนโลยี 5G จะมีความสำคัญในยุคที่ทุกอย่างเชื่อมถึงกัน มีการสื่อสารระหว่างผู้คน กับสิ่งของเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์อัจฉริยะ เครื่องจักรสื่อสารกับเครื่องจักร (Machine to Machine) รวมไปถึงการใช้เพื่อรองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ การศึกษา ระบบพลังงาน (Smart Grid) ถึงแม้ในปัจจุบันไทยจะยังอยู่ในช่วงการพัฒนา 3G และ 4G แต่ก็ต้องเตรียมการสำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น

"ทับทิม อ่างแก้ว" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า การก้าวสู่ยุค 5G ของไทยอาจจะเกิดขึ้นหลังปี 2020 ไม่นานนัก เนื่องจากภาคเอกชนของไทยเปิดรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานได้เร็ว แต่สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาคือความพร้อมด้านกฎหมาย และกฎระเบียบต่าง ๆของภาครัฐที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้ทัน

"โจทย์สำคัญคือ จะบริหารจัดการคลื่นความถี่ต่าง ๆ ที่ในอนาคตจะมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอแน่นอน อย่างน้อยต้องมีคลื่นไม่ต่ำกว่า 100 MHz เพื่อให้พร้อมรับทั้งเทคโนโลยีเก่าและใหม่ ขณะที่การพัฒนาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากขึ้น การก้าวสู่ 5G จะทำให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก สิ่งสำคัญคือหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการวางแผนการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้อย่างไรทั้งต้องพัฒนาคนให้พร้อมและตระหนักถึงการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด"



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1439796128

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.