Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

12 สิงหาคม 2558 (บทความ) พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ เกราะคุ้มครองคนทำงานสร้างสรรค์ // ท้ายที่สุดแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานจะได้รับการปกป้องลิขสิทธิ์จาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ หรือธุรกิจเว็บไซต์ขายภาพออนไลน์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากแต่ในสังคมย่อมมีผู้ที่ไม่เคารพตัวเองด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น

ประเด็นหลัก




แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานจะได้รับการปกป้องลิขสิทธิ์จาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ หรือธุรกิจเว็บไซต์ขายภาพออนไลน์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากแต่ในสังคมย่อมมีผู้ที่ไม่เคารพตัวเองด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขโมย เพียงแต่บัญญัติศัพท์ให้สุภาพขึ้นว่า “ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”









____________________________________________________





พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ เกราะคุ้มครองคนทำงานสร้างสรรค์

Submitted by Suwatcharee Por... on Mon, 08/10/2015 - 14:43



แม้ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์มาแล้วหนึ่งฉบับ ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ. 2537 แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ประชาชนใช้สื่ออินเทอร์เน็ตมากขึ้น ฤกษ์งามยามดี 4 สิงหาคม 2558 จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการบังคับใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558

ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้จะสอดคล้องกับนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้สร้างสรรค์งานทุกประเภทที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังต้องสอดคล้องกับการใช้สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจาก พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับแรกไม่ได้ระบุบทลงโทษที่ชัดเจน สำหรับการกระทำความผิดฐานละเมิดทางอินเทอร์เน็ต แต่ถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับที่ 2 ชัดเจน

นอกจากนี้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ ยังเปิดช่องให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวจริงสามารถบังคับให้ผู้ที่กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ยุติการละเมิด ซ้ำยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนที่อยากผลิตนวัตกรรมหรือผลงานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ทางด้าน สุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย มองว่า “พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 มีความเป็นธรรมต่อเจ้าของผลงานมากขึ้น อีกทั้งยังคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ได้มุ่งจะใช้งานลิขสิทธิ์เพื่อการค้า ซึ่งการมีบทลงโทษที่ค่อนข้างหนักจะช่วยให้ผู้ใช้งานระมัดระวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น”

ทั้งนี้สุเมธยังสนับสนุนหากประชาชนหรือผู้มีอาชีพสื่อมวลชนจะช่วยกันประชาสัมพันธ์เนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ภายใต้นิยามที่มีความถูกต้องของรัฐบาล

แน่นอนว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับนี้จะทำให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต ตลอดจนสำนักข่าวเพิ่มความระมัดระวังในการทำงานมากยิ่งขึ้น เพราะมีกรณีตัวอย่างให้เห็นเมื่อปี พ.ศ. 2556 กรณีภาพสะพานมอญที่ขาดเป็นระยะทางกว่า 30 เมตร ซึ่งเจ้าของผลงานตัวจริง คือ วีรวาร์ สุขรินทร์ ช่างภาพอิสระ ที่โพสต์ภาพเหตุการณ์ครั้งนั้นลงใน facebook โดยในครั้งนั้นมีสำนักข่าวนำภาพไปใช้หลายสำนัก โดยไม่ระบุแหล่งที่มาของภาพ อีกทั้งยังมีการดัดแปลงผลงาน เป็นเหตุให้เจ้าของลิขสิทธิ์ตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์

แม้ปัจจุบันกรณีพิพาทดังกล่าวจะสามารถเจรจาไกล่เกลี่ยตกลงกันได้กับคู่กรณีบางราย โดยวีรวาร์ สุขรินทร์ ให้ความเห็นต่อ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 ว่า “พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการป้องปรามมากกว่าจะเป็นการป้องกัน และเจ้าของผลงานควรเห็นคุณค่าในชิ้นงานของตัวเอง และตื่นตัวเมื่อถูกผู้อื่นละเมิด ต้องกล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ์ของตัวเอง เพราะหากทุกคนวางเฉยต่อการละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เหมือนการสนับสนุน”

ทั้งนี้ วีรวาร์ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เราควรเริ่มปลูกฝังการเรียนรู้เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ในรุ่นลูกรุ่นหลาน สอนให้เด็กรุ่นใหม่รู้จักที่จะเคารพผลงานของคนอื่น อย่าปล่อยให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นเพียงกระแสที่จะถูกกลืนหายไปจากสังคม ที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า คนไทยลืมง่าย” กระนั้นช่างภาพอิสระอย่างวีรวาร์ยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานภายใต้อุดมการณ์ของตัวเองต่อไป

หลายคนอาจมองว่าการนำรูปของบุคคลอื่นมาใช้ในงานข่าว เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริง เหตุใดต้องมีการฟ้องร้องจนเป็นเรื่องใหญ่โต โดยที่อาจจะลืมคิดให้ลึกขึ้นอีกนิดว่า ผลงานทุกประเภทไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ งานทุกชิ้นมีมูลค่าและคุณค่าในตัวเอง ผู้คิดสร้างสรรค์ต้องสละทั้งแรง กำลังทรัพย์ และระดมสติปัญญา ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานขึ้นมา บางเหตุการณ์ผู้สร้างสรรค์งานต้องเสี่ยงชีวิต บางเหตุการณ์อาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกวัน ซึ่งนั่นย่อมเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่ลิขสิทธิ์จะตกเป็นของเจ้าของผลงานโดยสมบูรณ์

การมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ น่าจะมีผลดีต่อหลายๆ ด้าน ทั้งการเป็นเสมือนเกราะคุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน อีกทั้งบทลงโทษที่หนักขึ้นอาจส่งผลให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับภาพถ่ายขยายตัวมากขึ้นกว่าเดิม

โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยประมาณการมูลค่าของธุรกิจไอซีทีเอาไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่ามีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ในจำนวนดังกล่าวจะต้องมีธุรกิจขายภาพออนไลน์รวมอยู่ด้วย

Shutterstock เว็บไซต์ขายภาพออนไลน์ยอดนิยมระบุว่าในปี พ.ศ. 2557 มีช่างภาพออนไลน์ส่งภาพไปขายในเว็บไซต์ Shutterstock ทุก 90 วัน ทั่วโลกมีผู้ส่งภาพเข้ามาขายประมาณ 6 หมื่นคน ซึ่งในจำนวนนี้มีช่างภาพจากประเทศไทยร้อยละ 10 นับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อย

คำถามคือ เพราะเหตุใดคนไทยจึงเริ่มให้ความนิยมและลงทะเบียนส่งภาพถ่ายขายกันมากขึ้น คำตอบคือ รายได้จากการขายภาพออนไลน์ของแต่ละเว็บไซต์ทั่วโลกเป็นอัตราเดียวกัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่มีค่าครองชีพต่ำ จึงมองว่านี่เป็นงานที่ทำรายได้ดี ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจการถ่ายภาพมากขึ้น อีกยังเป็นงานที่มีความอิสระ

ทั้งนี้เว็บไซต์ขายภาพออนไลน์ไม่ได้มีแค่ภาพถ่ายเท่านั้น หากแต่ยังครอบคลุมถึงภาพวาดกราฟฟิก วิดีโอคลิป และปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจนี้มีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้น นั่นเพราะธุรกิจสื่อนิยมซื้อภาพลิขสิทธิ์สำหรับใช้ประกอบสื่อมากขึ้น ทั้งความหลากหลายและราคาที่ถูกลง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ภาพละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม 5-6 ปีที่ผ่านมา จำนวนภาพที่ถูกส่งขายบนเว็บไซต์ รวมถึงปริมาณลูกค้าและจำนวนการดาวน์โหลดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเหตุนี้เองส่งผลให้เกิดการแข่งขันในหมู่นักขายภาพบนตลาดออนไลน์ กระนั้นภาพที่อยู่บนตลาดออนไลน์ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซ้ำยังมีแนวโน้มความต้องการที่สูงขึ้น หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับธุรกิจสื่อทั่วโลกหากยังมีอัตราการขยายตัว และความนิยมในภาพที่มีลิขสิทธิ์มากขึ้น

กระทั่งล่าสุดบริษัท GoPro บริษัทผู้ผลิตกล้องเกิดไอเดียแตกไลน์ธุรกิจใหม่ GoPro Licensing โดยจะเป็นการซื้อลิขสิทธิ์วิดีโอจากช่างภาพกว่า 600 คลิป เพื่อเปิดเว็บไซต์จำหน่ายด้วยตัวเอง ภายหลังจากที่มีแบรนด์ชั้นนำระดับโลกให้ความสนใจและสอบถามการใช้งานและการซื้อลิขสิทธิ์ ทั้งนี้คลิปจาก GoPro สามารถสร้าง Engagement บน Youtube ได้มากกกว่าคลิปวิดีโอทั่วไป ซึ่งความแตกต่างระหว่างวิดีโอของ GoPro และของ User คนอื่นคือคุณภาพที่เหนือชั้นและมุมมองของกล้องที่ยากจะถ่าย

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว ผู้สร้างสรรค์งานจะได้รับการปกป้องลิขสิทธิ์จาก พ.ร.บ. ฉบับใหม่ หรือธุรกิจเว็บไซต์ขายภาพออนไลน์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากแต่ในสังคมย่อมมีผู้ที่ไม่เคารพตัวเองด้วยการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการขโมย เพียงแต่บัญญัติศัพท์ให้สุภาพขึ้นว่า “ผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา”


- See more at: http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A-%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%8C#sthash.ybYhxBzD.dpuf

http://www.gotomanager.com/content/พรบ-ลิขสิทธิ์-เกราะคุ้มครองคนทำงานสร้างสรรค์


________________________________________



จากเศรษฐกิจดิจิตอล สู่ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฤาเป็นได้เพียงความพยายาม

Submitted by Suwatcharee



ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังชะลอตัว เห็นได้จากประมาณการตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายสำนัก ที่บอกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไม่สามารถเติบโตไปได้เท่าที่ควร แน่นอนว่าการคาดการณ์ดังกล่าวไม่อาจเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนได้มากนัก

ในห้วงเวลานี้คงไม่ต้องเอ่ยถึงสถานการณ์การส่งออก ที่อาจเรียกได้ว่าจวนเจียนที่จะอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน รอคอยปาฏิหาริย์ที่จะสามารถพยุงให้ธุรกิจไม่สะดุดล้มไปเสียก่อน

หรืออีกความหวังหนึ่งในการกอบกู้เศรษฐกิจคือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ที่อาจเป็นเสมือนพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาในเวลาที่ถูก และจังหวะที่เหมาะสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่านโยบายอันทันสมัยจะเหมาะกับผู้ใช้งานรุ่นเก่าได้หรือไม่

นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งบุคคลที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนนโยบายนี้คือหม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวเกิดจากการผลักดันของหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเคยประมาณการมูลค่าธุรกิจไอซีที ปี 2556 มีมูลค่าถึง 1.2 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

แบ่งเป็นธุรกิจ Telecommunications (ประกอบด้วยโทรศัพท์พื้นฐาน-เคลื่อนที่ อินเทอร์เน็ต-กิจการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต) จำนวน 5 แสนล้านบาท ธุรกิจ Broadcasting จำนวน 1 แสนล้านบาท ธุรกิจ IT (Information Technology) จำนวน 1 แสนล้านบาท ธุรกิจ Digital Contents จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ธุรกิจ E-Commerce จำนวน 4 แสนล้านบาท และธุรกิจ Digital Marketing จำนวน 1 หมื่นล้านบาท

แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อาจเป็นการเดินหมากที่น่าสนใจไม่น้อย แต่อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์นั้นมีใจความสำคัญหลายประการ แต่เหตุผลสำคัญที่นำมาซึ่งการแก้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ น่าจะมาจากข้อที่ว่า รัฐจะกำกับดูแลระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศให้มีธรรมาภิบาลและความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อไม่ให้มีการละเมิดกัน

อีกประการหนึ่งคือ การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล (Soft Infrastructure) ซึ่งรัฐจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลทุกฉบับ รวมไปถึงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของระบบดิจิตอล และการคุ้มครองข้อมูลประเภทต่างๆ ซึ่งจะเพิ่มความเชื่อมั่นเพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ นี่เองที่อาจเป็นเหตุผลให้เกิดการแก้ไข พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์

4 สิงหาคม 2558 วันแรกที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 แม้ว่าไทยจะมี พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ใช้มานานแล้ว แต่ใจความอาจไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเพิ่มเนื้อหาสาระเพื่อให้เหมาะกับยุคสมัยที่เทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิต เสมือนสารอาหารที่ร่างกายขาดไม่ได้

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา มาลี โชคล้ำเลิศ เปิดเผยรายละเอียดเนื้อหาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ว่ามีสาระสำคัญ 8 ประเด็น





หากจะสรุปประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ 8 ข้อข้างต้น ให้เข้าใจได้ง่ายที่สุด คือ

1. ไม่ให้คนอื่นมาลบ เปลี่ยนแปลงข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์

2. คุ้มครองงานลิขสิทธิ์ที่เจ้าของใส่รหัสผ่านไว้

3. กรณีทำซ้ำชั่วคราวไม่นับเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่นการดูหนัง ฟังเพลง

4. เจ้าของลิขสิทธิ์ขอให้ศาลเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ได้

5. ซีดีเพลง ภาพยนตร์ มีกฎหมายภาพยนตร์และวิดีทัศน์

6. เพิ่มสิทธินักแสดง

7. ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย

8. ศาลสั่งริบทำลายสิ่งที่ใช้ทำในการละเมิดลิขสิทธิ์ได้

กระนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการประชาสัมพันธ์รวมไปถึงรณรงค์ให้ประชาชนคนไทยตระหนักถึงสิทธิของทั้งตัวเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น ด้วยการเผยแพร่รายละเอียดของ พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขนี้ เชื่อว่าการจัดทำคู่มือคงเป็นแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐนิยม แต่จะดีกว่าไม่น้อยหากเริ่มปฏิรูประเบียบการทำงาน โดยอาศัยช่วงเวลานี้เผยแพร่เนื้อหาของ พ.ร.บ. ผ่านสื่อออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คทุกรูปแบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายมากที่สุด

แม้บุคลากรในแวดวงธุรกิจจะให้ความเห็นว่าการที่รัฐบาลผุดนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล หรือนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นผลให้เกิดการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ ฉบับที่ 2 จะเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของไทยกระเตื้องขึ้น

ซึ่งหากวิเคราะห์ดูตามหลักการแล้ว มีความเป็นไปได้ไม่น้อย เมื่อนักธุรกิจทั้งรายใหญ่ รายย่อย ต่างใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางสำคัญในการทำการตลาด

แต่ท้ายที่สุดแล้วหากรัฐบาลคาดหวังให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยอาศัยเพียงนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลเพียงอย่างเดียว คำตอบคงจะไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก เว้นเสียแต่จะมีการปรับแก้ทั้งองคาพยพ และไม่ปล่อยให้ความพยายามครั้งนี้เป็นเพียงกระแสที่สร้างความหวังไปวันๆ
- See more at: http://www.gotomanager.com/content/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5-%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B9%88-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%9A-%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C-%E0%B8%A4%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1#sthash.Q7O6QjtZ.dpuf



ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.