Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

19 เมษายน 2558 GMM.สุรพล ระบุ ที่ผ่านมาช่องแมสมีทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่โพซิชันนิ่งใกล้เคียงกัน และทับซ้อนกันอยู่ คือช่อง 3 เจาะกลุ่มบนและกลาง ส่วนช่อง 7 เจาะตลาดล่างครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเราเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายกึ่งกลางระหว่างทั้ง 2 ช่อง

ประเด็นหลัก

นายสุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารงานขาย และการตลาด บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ดิจิทัล ทีวี จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์บริษัทคือ สร้างจุดแข็งและโฟกัสที่คนดู โดยแนวทาง คือ โพซิชันนิ่งไปที่กลุ่มแมส ซึ่งช่องวันชัดเจนว่า คือ กลุ่มแมสระดับกลาง ซึ่งมีฐานผู้ชมจำนวนมาก จากนั้นจึงวางคอนเทนต์รายการให้สอดรับ โฟกัสไปที่ละคร ซิตคอม วาไรตี้ เกมโชว์และข่าว

"ที่ผ่านมาช่องแมสมีทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่โพซิชันนิ่งใกล้เคียงกัน และทับซ้อนกันอยู่ คือช่อง 3 เจาะกลุ่มบนและกลาง ส่วนช่อง 7 เจาะตลาดล่างครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเราเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายกึ่งกลางระหว่างทั้ง 2 ช่อง"

ขณะที่เป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มช่องใหม่ ซึ่งต้องใส่เต็มที่เพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่จะช้าหรือเร็วก็เป็นอีกเรื่อง ดังนั้นคุณภาพรายการจึงต้องดี เพื่อการันตีว่าจะอยู่บนสมรภูมิการแข่งขันได้




_____________________________________________________











ดัน"ช่องONE"ขึ้นแท่น"ช่องบันเทิง" "บอย"ดึงผู้ผลิตนอกค่าย-เชื่อสร้างฐานคนดูสำเร็จ


เดินหน้าสุดตัว! "ช่องวัน" ชูโพซิชันนิ่ง "ช่องบันเทิง" ช่องแรกของประเทศ โฟกัสกลุ่มคนดูแมสระดับกลาง "ถกลเกียรติ วีรวรรณ" มั่นใจ วันนี้มาถูกทาง แจงจุดแข็งคอนเทนต์ต้อง "แปลก-ใหม่-อิงกระแส" ดึงผู้ผลิตนอกค่ายเสริมทัพ ก่อนปล่อยขบวนรายการระลอกใหม่เดือนพฤษภาคม มุ่งเป้าหมายเบอร์ 1 กลุ่มช่องใหม่เร็วที่สุด

ชัดเจนเป็นลำดับว่านับจากนี้ไป "ช่องวัน" สถานีโทรทัศน์ช่องใหม่ในกลุ่มวาไรตี้เอชดี ภายใต้การขับเคลื่อนสำคัญของนายถกลเกียรติ วีรวรรณ จะพุ่งเป้าไปที่การเป็น "ช่องบันเทิง" ด้วยกลยุทธ์มุ่งเน้นการผลิตคอนเทนต์รายการที่ตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าว ซึ่งกลุ่มผู้บริหารมั่นใจว่า ตลาดยังเปิดกว้างอยู่



นายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ดิจิทัล ทีวี จำกัด ผู้บริหารช่องวัน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เป้าหมายของช่องวัน คือ การเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มช่องใหม่ให้ได้ แม้ว่าภาพรวมการแข่งขัน 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าฝุ่นตลบมาก มีทั้งช่องที่มีความพร้อม และไม่มีความพร้อม อยู่ในภาวะแข่งขันลำบาก ซึ่งตอนนี้หลายรายรู้แล้วว่าการทำทีวีไม่ง่าย ทำให้จากนี้ไปแต่ละช่องต้องวางกลยุทธ์ให้รอบคอบ เพื่อประคองธุรกิจต่อไป ด้วยการหาจุดแข็งของสถานีให้เจอ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 แน่นอนว่า ถึงแม้ความนิยมจะยังสู้กลุ่มช่องเก่า (3,5,7,9) ไม่ได้ แต่การเติบโตรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

"วันนี้มั่นใจว่าช่องวัน เดินมาถูกที่ ถูกเวลาแล้ว ส่วนจะถึงจุดคุ้มทุนช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ"

เดินหน้า...เดิมพันอนาคต

นายถกลเกียรติกล่าวต่อไปว่า จุดตัดสินใจสำคัญของช่องวันเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ต้องคิดอย่างถ้วนถี่ว่าสภาพตลาดโฆษณาเป็นอย่างไร มีความพร้อมหรือไม่ ถ้ายังรอต่อไปจะสูญเสียโอกาสทางธุรกิจไปหรือไม่ ในที่สุดจึงตัดสินใจปล่อยละครช่วงเวลา 20.15-22.30 น. ซึ่งเป็นไพรมไทม์ของทีวี ปรากฏว่าสามารถทำให้เรตติ้งคนดูไต่ขึ้นสู่อันดับ 6 ภายใน 4 เดือน ถือว่าผลตอบรับดีกว่าที่คาดไว้

ละครล็อกแรก "สงครามนางงาม" สร้างความฮือฮาได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้สถานีเปรี้ยงขึ้นมา คือ ละครหลังข่าวตั้งแต่ "ฝันเฟื่อง" "เสือ" ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกว่า ถ้าอยากดูละคร ช่องวันเป็นอีก 1 ตัวเลือกที่สำคัญ

"คอนเทนต์กับคนดูก็เหมือนไก่กับไข่ ต้องทำให้คนดูเห็นก่อนว่า เรามีอะไรมานำเสนอ เช่นเดียวกันถ้าไม่มีคอนเทนต์ เอเยนซี่และสินค้าก็จะไม่ตัดสินใจซื้อโฆษณา"



เป้าหมายหลักสร้าง "ช่องบันเทิง"

นายถกลเกียรติกล่าวว่า ส่วนผสมของละครช่องวันคงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่รายการบันเทิงทั่วไปต้องปรุงด้วย 2 ส่วนผสมหลัก คือ ความคุ้นชินของคนดูและความสดใหม่ ประกอบกับพิจารณาปัจจัยแวดล้อมว่า ตลาดต้องการอะไร ซึ่งต้องบาลานซ์ทั้ง 2 ส่วนผสมให้ได้รสชาติแปลกใหม่ แตกต่าง เพื่อดึงความสนใจผู้ชม

"สงครามนางงาม มีนักแสดงหน้าใหม่ 10 คน ยังไงก็ใหม่ ซึ่งก็สร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ชมได้จริง ๆ หรือเรื่องเสือที่ได้ "เทย่า โรเจอร์" มาร่วมงานครั้งแรก บวกฝีมือกำกับ และโปรดักชั่น ทำให้เกิดอะไรใหม่ ๆ แก่ผู้ชมเช่นกัน"

นายถกลเกียรติย้ำว่า แม้ตั้งใจให้ละครเป็นตัวเปิดตัวสร้างชื่อ "ช่องวัน" ให้เป็นที่รู้จัก แต่เป้าหมายหลักคือ ต้องการให้สถานีโทรทัศน์แห่งนี้ "เป็นช่องบันเทิง" ที่มีสาระให้ผู้ชมดูได้ทั้งวัน ไม่ตกเทรนด์ โดยมี 3 คอนเทนต์หลัก คือ ละคร-ซิตคอม ข่าว และวาไรตี้

เร่งเติมแม็กเนต ดึงผู้จัดนอกค่าย

ทิศทางจากนี้ไปของช่องวันจะเร่งเติมรายการแม่เหล็ก และคอนเทนต์ใหม่ ๆ ต่อเนื่อง โดยจะปล่อยเฟสต่อไปในเดือนพฤษภาคมนี้ เริ่มด้วยละครฟอร์มใหญ่ "บัลลังก์เมฆ" ที่ได้นักแสดงระดับท็อปวงการ ตามด้วยซิตคอมใหม่ "มือปราบ กุ๊ก กุ๊ก กู๋"

นอกจากนี้ยังมี เจเอสแอล มาผลิต 2 รายการใหม่ให้ คือ ทอล์กโชว์ "เจาะใจ" ที่ย้ายมาจากช่อง 5 จะออกอากาศคืนวันศุกร์ และ "มหัศจรรย์แห่งรัก" ซึ่งซื้อลิขสิทธิ์มาจากต่างประเทศ ส่วนบริษัท สาระแน แปซิฟิค จำกัด ก็จะผลิตรายการตลก "งานเข้าที่เล้าเป็ด"

"รายการเจาะใจจะเริ่มเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนรูปแบบอาจปรับเล็กน้อย โดยคงหัวใจไว้ เจาะใจคือ รายการทอล์กโชว์น้ำดี"

ปัจจุบันยังไม่มีแผนเพิ่มละครในช่วงเวลาอื่น ๆ เพราะยังมีรายการอื่น ๆ ที่ผู้ชมต้องการดูในช่วงเวลาไพรมไทม์ ซึ่งที่ผ่านมาในวันเสาร์-อาทิตย์ ได้ใส่การถ่ายทอดสด "เดอะสตาร์ 11" ซึ่งมีเรตติ้งที่ดีที่สุดของสถานีในปัจจุบัน แต่หลังจากการประกวดเสร็จสิ้นจะมีรายการตลก วาไรตี้ เข้ามาแทนที่

วางโพซิชันนิ่งให้ชัดเจน

นายสุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารงานขาย และการตลาด บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ดิจิทัล ทีวี จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์บริษัทคือ สร้างจุดแข็งและโฟกัสที่คนดู โดยแนวทาง คือ โพซิชันนิ่งไปที่กลุ่มแมส ซึ่งช่องวันชัดเจนว่า คือ กลุ่มแมสระดับกลาง ซึ่งมีฐานผู้ชมจำนวนมาก จากนั้นจึงวางคอนเทนต์รายการให้สอดรับ โฟกัสไปที่ละคร ซิตคอม วาไรตี้ เกมโชว์และข่าว

"ที่ผ่านมาช่องแมสมีทั้งช่อง 3 และช่อง 7 ที่โพซิชันนิ่งใกล้เคียงกัน และทับซ้อนกันอยู่ คือช่อง 3 เจาะกลุ่มบนและกลาง ส่วนช่อง 7 เจาะตลาดล่างครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งเราเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายกึ่งกลางระหว่างทั้ง 2 ช่อง"

ขณะที่เป้าหมายสูงสุด คือ การเป็นเบอร์ 1 ในกลุ่มช่องใหม่ ซึ่งต้องใส่เต็มที่เพื่อเดินไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ แต่จะช้าหรือเร็วก็เป็นอีกเรื่อง ดังนั้นคุณภาพรายการจึงต้องดี เพื่อการันตีว่าจะอยู่บนสมรภูมิการแข่งขันได้

สำหรับภาพรวมงบฯโฆษณา นายสุรพลถือว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ทำให้งบฯโฆษณาผ่านทีวีช่วง 2 เดือนแรกเติบโตลดลง แต่เดือนมีนาคมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากสินค้าหน้าร้อนที่โหมทำโปรโมชั่น อย่างไรก็ตาม คาดว่าเม็ดเงินโฆษณากลุ่มช่องใหม่จะอยู่ที่ 10-15% ที่เหลือเป็นของช่องเก่า (ช่อง 3-5-7-9)

แจงถือหุ้น "รวดเร็ว คล่องตัว"

นายถกลเกียรติกล่าวถึงการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท จีเอ็มเอ็มวัน ดิจิทัล ทีวี จำกัด จำนวน 49% เมื่อปลายปีก่อนด้วยว่า เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานคล่องตัว รวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกันทำให้การตัดสินใจต่าง ๆ ต้องระมัดระวังมากขึ้น

"เมื่อการลงทุนคอนเทนต์รายการ หรือบริหารงานต่าง ๆ ต้องใช้งบฯลงทุนค่อนข้างสูง การเข้ามาถือหุ้นก็เท่ากับว่ามีความเสี่ยงอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง การตัดสินใจ และการทำงานจากนี้ไปจึงต้องละเอียดเพิ่มขึ้นตามไปด้วย" นายถกลเกียรติกล่าวในที่สุด



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1429161126

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.