Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

19 เมษายน 2558 (เกาะติดประมูล4G) AIS ชี้ การประมูลคลื่นความถี่หากประมูลชนะได้คลื่นมาเพียงปริมาณ 10 เมกะเฮิรตซ์ ก็เพียงพอต่อการให้บริการ 4จี แต่ที่เอไอเอส ต้องการจริงๆ คือคลื่นปริมาณ 20 เมกะเฮิรตซ์ทั้งคลื่นย่านสูงและต่ำ

ประเด็นหลัก

"เอไอเอสมองว่าในการประมูลคลื่นความถี่หากประมูลชนะได้คลื่นมาเพียงปริมาณ 10 เมกะเฮิรตซ์ ก็เพียงพอต่อการให้บริการ 4จี แต่ที่เอไอเอส ต้องการจริงๆ คือคลื่นปริมาณ 20 เมกะเฮิรตซ์ทั้งคลื่นย่านสูงและต่ำ เพราะเป็นจำนวนที่สามารถให้บริการ 4จี แก่ลูกค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีที่สุด?



_____________________________________________________











ตรวจแถวค่ายมือถือ ติดเครื่องรอพร้อมตะลุมบอน ชิงคลื่น4จี


ลุ้นกันอยู่นานว่าการประมูล 4จี จะมาทันในปีนี้หรือไม่ หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งระงับการประมูลเป็นเวลา 1 ปี เพื่อเยียวยาลูกค้า 2จี ที่ค้างอยู่บนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จนถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้

ระหว่างที่คำสั่งมีผลนี้เอง ได้เป็นที่ถกเถียงกันว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล 4จี ในระหว่างนี้ได้หรือไม่ เพราะหาก คสช.ไม่อนุมัติ การยกร่างกฎเกณฑ์การประมูล เพื่อนำไปสู่การประมูลอาจต้องรอไปถึงช่วงต้นปี 2559

อย่างไรก็ดี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดดีอี) ก็ได้อนุมัติให้ กสทช. สามารถดำเนินจัดทำหลักเกณฑ์การประมูล 4จี เฉพาะที่เป็นการดำเนินการภายในได้ในระหว่างที่มีคำสั่งการระงับการประมูลได้ เช่น การจัดทำประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์การประมูล หรือการกำหนดอัตราราคาตั้งต้นการประมูล ซึ่งทันทีหลัง บอร์ดดีอีอนุมัติ กสทช.ก็ได้กำหนดวันที่ประมูลออกมาเป็นที่เรียบร้อย ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ประมูลวันที่ 11 พฤศจิกายน และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ประมูลวันที่ 15 ธันวาคม

สำหรับใบอนุญาตที่จัดประมูล 4จี จะมีทั้งสิ้น 4 ใบอนุญาตด้วยกันได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ปริมาณคลื่นใบอนุญาตละ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ปริมาณคลื่นใบอนุญาตละ 10 เมกะเฮิรตซ์ ทั้งนี้ ในฝั่งของผู้ประกอบการที่ออกมาแสดงตัวว่าเข้าประมูล 4จี แน่ๆ ในเวลานี้มีแล้วทั้งสิ้น 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรูมูฟเอช, กสท โทรคมนาคม และ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ฉะนั้นด้วยจำนวนดังกล่าวจึงมากกว่าจำนวนใบอนุญาต อีกทั้ง กสทช.เองก็ไม่จำกัดว่า 1 รายจะได้แค่ 1 ใบอนุญาตหรือไม่ ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการแข่งขันน่าจะเป็นไปอย่างดุเดือด ในครั้งนี้ทาง "มติชน? จึงขอพาไปชมความพร้อมของว่าที่ผู้เข้าแข่งแต่ละราย ก่อนเข้าทำศึกหนักในครั้งนี้

- เอไอเอสลั่นขอ 2 ใบอนุญาต

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ทางเอไอเอสมีความพร้อมอย่างยิ่งแล้วที่จะเข้าประมูล 4จี ซึ่งในขณะนี้ได้ร่างแผนงานธุรกิจในการให้บริการ 4จีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมเสนอบอร์ดเอไอเอสพิจารณา จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดให้ได้ในเวลานี้ ส่วนจำนวนเงินที่จะนำไปใช้ในการประมูล จะใช้เท่าใดนั้น ต้องรอ กสทช.กำหนดราคาตั้งต้นการประมูล 4จี ให้เสร็จออกมาเสียก่อน จึงจะกำหนดจำนวนเงินในส่วนดังกล่าวได้

ด้านคลื่นความถี่ที่เอไอเอสสนใจ คือ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากเอไอเอสต้องการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่สามารถรองรับปริมาณการใช้งานของลูกค้าต่อ 1 สถานีฐานได้มากกว่าคลื่นความถี่ย่านต่ำ ส่วนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ก็ให้ประโยชน์ในการลงทุนที่สร้างสถานีฐานน้อยกว่าย่านความถี่สูงแต่สามารถให้บริการโครงข่ายครอบคลุมเท่ากันได้

"เอไอเอสมองว่าในการประมูลคลื่นความถี่หากประมูลชนะได้คลื่นมาเพียงปริมาณ 10 เมกะเฮิรตซ์ ก็เพียงพอต่อการให้บริการ 4จี แต่ที่เอไอเอส ต้องการจริงๆ คือคลื่นปริมาณ 20 เมกะเฮิรตซ์ทั้งคลื่นย่านสูงและต่ำ เพราะเป็นจำนวนที่สามารถให้บริการ 4จี แก่ลูกค้า ได้อย่างมีประสิทธิภาพและให้ลูกค้าได้มีประสบการณ์ในการใช้งานที่ดีที่สุด?

- ดีแทคโอดคลื่นน้อยขอสมทบเพิ่ม

นายซิคเว่ เบรคเก้ รองประธานกรรมการเทเลนอร์กรุ๊ป และเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุด เทเลนอร์ เอเชีย กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่ น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ที่อยู่ในเครือของเทเลนอร์กรุ๊ป จะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ที่ได้เปรียบด้านปริมาณคลื่นความถี่ที่มีมากกว่าคู่แข่ง แต่ในการประมูล 4จี ดีแทคจะยังเข้าประมูลทั้งคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดยเทเลนอร์กรุ๊ปที่มีประสบการณ์ เทคนิค และความรู้ จากประมูลคลื่นในหลายประเทศทั่วโลก ก็พร้อมจะสนับสนุนดีแทคอย่างเต็มที่ เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของจำนวนเงินที่ใช้ในการประมูลอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม การประมูล 4จี ทางดีแทคเห็นว่าจำนวนคลื่นความถี่จากทั้ง 2 ย่านความถี่รวมกัน มีปริมาณเพียง 45 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ฉะนั้นดีแทคจึงอยากคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างดีแทคกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ถึงปี 2561 ในส่วนที่ไม่ได้มีการนำมาใช้งานจำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ ไปสมทบการประมูล 4จี ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งดีแทคเองจะเดินหน้าเจรจากับ กสท พร้อมติดตามผลอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อประโยชน์ของประเทศที่จะมีคลื่นใช้งานที่เพิ่มขึ้น

- ทรูฯเชื่อ 4จี ช่วยเศรษฐกิจดิจิตอล

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มทรู มีความพร้อมแล้วที่จะเข้าประมูล 4จี และเชื่อว่าการประมูล 4จี จะสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

- "กสท" เชื่อราคาประมูลเท่า 3จี ชนะใส

นายวิโรจน์ โตเจริญวาณิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานตลาดและการขาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทาง กสท ได้ให้ความสนใจที่จะเข้าประมูล โดยมีการตั้งทีมศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว และได้มีการหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในการเข้าประมูลและให้บริการ 4จี เช่นกัน ส่วนแผนในการเข้าประมูล ทาง กสท จะยึดรูปแบบของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่เป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน ซึ่งได้เข้าประมูลทีวีดิจิตอล เช่น ในการขอกรอบวงเงินการประมูลคร่าวๆแก่ ครม. และเมื่อได้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายหลังจากการชนะการประมูลแล้ว จึงค่อยแจ้งจำนวนเงินที่แน่นอนแก่ ครม.อีกครั้ง

"ในส่วนของจำนวนเงินที่ใช้ประมูล เวลานี้ กสท มีกระแสเงินสดที่มากพอ หรือไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท และไม่เป็นหนี้ใคร ฉะนั้นหากราคาประมูลท้ายสุดเท่ากับ 3จี เชื่อว่า กสท จะชนะได้สบาย"

ในส่วนของแผนการตลาดที่เตรียมไว้สำหรับ 4จี หากชนะประมูลคลื่น ทาง กสท จะเก็บคลื่นส่วนหนึ่งไว้ให้บริการด้วยตนเอง และคลื่นอีกส่วนหนึ่ง จะนำไปทำขายส่งขายต่อบริการ (เอ็มวีเอ็นโอ) ให้แก่ผู้ที่สนใจ

- จัสมินชูจุดแข็งอินเตอร์เน็ต บริการ 4จี

นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทประเมินเงินลงทุนเข้าประมูล 4จี ไว้ว่าจะต้องใช้ราว 25,000-35,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เริ่มเจรจากับ ผู้ประกอบการต่างประเทศเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรเข้าประมูล ด้านกลยุทธ์ของบริษัท ในการให้บริการ 4จี จะอาศัยศักยภาพเดิมของกลุ่มที่มีความแข็งแกร่งด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ให้บริการภายใต้แบรนด์3บีบี ที่ มีทีมพนักงานวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายของจัสมินจะเน้นที่ลูกค้าระดับบนที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นหลัก และต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงเป็นหลัก

พอจะเห็นภาพผู้เล่นแต่ละรายในขณะนี้ ดูเหมือนจะเครื่องร้อนพร้อมลุยเข้าชิงชัยใบอนุญาต 4จี ที่จะเปิดประมูลในช่วงปลายปีนี้ ทั้ง 4 ใบอนุญาต รอเพียงเสียงปืนสตาร์ตของ กสทช. ใครจะเข้าเส้นชัยบ้าง ปลายปีนี้คงรู้กัน



ที่มา : นสพ.มติชน



http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1429155886

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.