Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

07 เมษายน 2558 BEC.สุรินทร์ ระบุ ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอด1ปีที่ผ่านมาและผลต่อเนื่องมายังปีที่สองนี้ ทำให้หลายช่องเริ่มส่งสัญญาณว่าเริ่มจะไปไม่ไหวแล้ว เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้า ทีวีดิจิตอลช่องที่สามารถอยู่ได้อาจจะเหลือเพียง 5-6 ช่องเท่านั้น

ประเด็นหลัก


“ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอด1ปีที่ผ่านมาและผลต่อเนื่องมายังปีที่สองนี้ ทำให้หลายช่องเริ่มส่งสัญญาณว่าเริ่มจะไปไม่ไหวแล้ว เพราะทุกคนต่างทุ่มเม็ดเงินกันตั้งแต่ครั้งแรก แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้า รายการไม่น่าสนใจ สุดท้ายตอนนี้เลยเริ่มไปต่อไม่ไหว ถึงสิ้นปีนี้อาจจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่า ทีวีดิจิตอลช่องที่สามารถอยู่ได้อาจจะเหลือเพียง 5-6 ช่องเท่านั้น”


_____________________________________________________










ทีวีดิจิตอลสำลักต้นทุน ส่อเลื่อนจ่ายค่าต๋ง


        ASTVผู้จัดการรายวัน – การแข่งขันทีวีดิจิตอลปี2เจอศึกหนัก หลายช่องเริ่มไปไม่ไหว โฆษณาไม่เข้า จวกยับ กสทช.ไร้การช่วยเหลือ เชื่อค่าสัมปทานงวดสองเลื่อนจ่าย สิ้นปีตัวหลักอยู่ได้ไม่เกิน 6ช่อง “ช่อง3” ยังมองคุ้มค่าที่ประมูลมา3ช่อง พร้อมวางช่อง3SD แหล่งรายได้ใหม่//
        นายสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 เปิดเผยว่า การแข่งขันของทีวีดิจิตอลในปีที่2นี้ ถือเป็นปีที่เหนื่อยและหนักมาก ซึ่งตลอด1ปีที่ผ่านมาพบปัญหาและอุปสรรคหลายด้านมีผลต่อเนื่อง จากการที่ต้องจ่ายเงินสดไปเยอะช่วงการประมูล ทำให้กระแสเงินสดสะดุด ขณะเดียวกันปัญหาการแย่งตัวการจ้างงานในอัตราที่สูงเกินจริง ทำให้สถานการณ์ของทีวีดิจิตอลในปีนี้ยังคงเหนื่อย
        อีกทั้งยังเห็นได้ชัดว่า 1.คอนเทนต์ของรายการเวลาสั้นๆจะมีปัญหา ทำให้ดึงคนดูไม่อยู่ และกว่าผู้ชมจะกดครบทั้ง24ช่อง รายการนั้นก็จบไปแล้ว ส่งผลให้ปีนี้จะเห็นรายการใหม่เพื่อต้องการดึงผู้ชม และต้นทุนคอนเทนต์จะมีอัตราสูงขึ้นในทุกประเภททั้งผลิตเองและนำเข้าตามมา โดยเฉพาะคอนเทนต์กีฬา เป็นคอนเทนต์ที่มีราคาแพงสุด
        2.ในขณะที่ต้นทุนคอนเทนต์สูงขึ้น แต่สำหรับราคาโฆษณาในทีวีดิจิตอลกลับมีราคาที่ต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากผลของรายการที่ไม่มีเรตติ้ง รายการไม่น่าสนใจ ผู้ชมแวะมากดชมและกดผ่านไป แน่นอนว่าบางช่องมีคอนเทนต์ที่ดีจึงอยู่ได้ แต่อีกหลายๆช่องกำลังอยู่ในสถานการณ์นี้ ซึ่งถือว่าอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างลำบาก โฆษณาไม่เข้าเลย
        3.ในความเป็นจริงเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีรวมไม่ได้เพิ่มขึ้น เอเจนซี่และเจ้าของสินค้ายังวางงบไว้เท่าเดิม จากที่เห็นว่าตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาในสื่อทีวีดิจิตอลมีกว่า 10% หรือราว 4,000-5,000 ล้านบาทของสื่อฟรีทีวีนั้น เป็นการดึงมาจากสื่อฟรีทีวี ไม่ใช่งบก้อนใหม่ อีกทั้งยังไม่น่าจะสูงถึงขนาดนั้นด้วย เพราะเป็นตัวเลขที่ตั้งไว้ แต่ขายจริงมีเรื่องของการลดแลกแจกแถมกัน ซึ่งตัวเลขจริงของเม็ดเงินโฆษณาที่อยู่ในทีวีดิจิตอล น่าจะมีเพียง10% ของจำนวนดังกล่าวมากกว่า
        4.ต้องยอมรับว่าทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นในวันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล จอที่2,3,4,5 เกิดขึ้น เพื่อมาแย่งเวลาจากทีวีดิจิตอลอย่างมาก ดีไวซ์ต่างๆเริ่มมีราคาถูกลง ทำให้คนออกมาจากจอหลักและรับชมผ่านจอต่างๆแทน ที่สำคัญคนดูทีวีน้อยล
        “ปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอด1ปีที่ผ่านมาและผลต่อเนื่องมายังปีที่สองนี้ ทำให้หลายช่องเริ่มส่งสัญญาณว่าเริ่มจะไปไม่ไหวแล้ว เพราะทุกคนต่างทุ่มเม็ดเงินกันตั้งแต่ครั้งแรก แต่เม็ดเงินโฆษณาไม่เข้า รายการไม่น่าสนใจ สุดท้ายตอนนี้เลยเริ่มไปต่อไม่ไหว ถึงสิ้นปีนี้อาจจะเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ว่า ทีวีดิจิตอลช่องที่สามารถอยู่ได้อาจจะเหลือเพียง 5-6 ช่องเท่านั้น”
        อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจาก กสทช.เอง ที่ไม่เข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย และเป็นการวางแผนการดำเนินงานที่ผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น หลังการประมูลที่ต้องต้องใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่ ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการเหล่านี้ยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการในระยะเวลาอันสั้น แต่ทางกสทช.กลับเร่งรัดให้รีบดำเนินการ ซึ่งแทนที่จะช่วยคิดหากลยุทธ์ผลิตรายการดีๆออกมา ไม่ใช่ทำอย่างไรให้คนเข้าถึงทีวีดิจิตอลได้เร็วขึ้น ให้ทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นจริง ทั้งๆที่โครงข่ายยังไม่พร้อม ผู้ประมูลช่องน่าจะมีหน้าที่ผลิตรายการ มากกว่าที่จะช่วยเรื่องโปรโมททีวีดิจิตอล ทั้งที่เป็นหน้าที่ของกสทช.มากกว่า สุดท้ายการที่ผู้ประกอบการเริ่มไปไม่ไหว เชื่อว่าการจ่ายค่าสัมปทานในปีที่2นี้จะต้องเลื่อนออกไปแน่นอน
        นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับช่อง3 ถึงแม้ว่าจะประมูลทีวีดิจิตอลมาถึง 3ช่อง แต่ด้วยแนวทางการวางแผนนำเสนอคอนเท้นท์ที่วางไว้ ถึงตอนนี้ยังเชื่อว่าคุ้มที่ประมูลช่องรายการมามากสุด แม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนว่าช่อง3จะแบกต้นทุนไว้มากสุดก็ตาม เพราะการที่ตองจ่ายค่าสัมปทานทั้ง2ทาง กับช่อง3HD ให้กับกสทช.และช่อง3ออริจินัลให้กับอสมท. ซึ่งกำลังหมดสัญญาลงในปี 2563 ถึงเวลานั้นก็จะดีขึ้น สำหรับ2ช่องนี้ ที่จะกลายมาเป็นช่องเดียว จากปัจจุบันออกคู่ขนาน
        ส่วนช่อง3แฟมิลี่ เป็นช่องที่ประมูลมาในราคาที่ไม่สูง และการแข่งขันต่ำ อีกทั้งเป็นช่องที่ทางบริษัทไม่ได้มุ่งกำไรและเน้นคืนกำไรสู่สังคม คอนเทนต์ช่องนี้จึงมีทั้งจากคอนเทนต์เดิมที่มีอยู่แล้ว และการร่วมกับพันธมิตรอย่างเทิร์นเนอร์ในการเริ่มสร้างสล็อตให้มีเรตติ้งสร้างรายได้เลี้ยงช่องเองให้ได้
        ดังนั้นเวลานี้ช่องที่เหนื่อยสุด คือ ช่อง3SD ที่ได้มีการนำเสนอราการใหม่ๆ วางสล็อตรายการให้มีเรตติ้งขึ้นมา เป็นช่องที่บริษัทปูทางวางไว้เป็นช่องสำหรับหารายได้ใหม่หลังจากสัมปทานช่อง3ออริจินอลหมดสัญญาสัมปทานลง และช่อง3HDในเวลานั้นไม่สามารถเพิ่มเวลาโฆษณาได้ และใช้เป็นช่องเพื่อแข่งขันในทีวีดิจิตอลอย่างแท้จริง


http://manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000039822&Keyword=%A1%CA%B7

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.