Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

07 เมษายน 2558 ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ระบุ นักข่าวยุคใหม่ต้องมี ‘พหุทักษะ’ นักข่าว 1 คน ต้องทำได้หลายอย่าง เรียกว่า One Man Journalists เช่นต้องเป็นช่างภาพได้ด้วย จากเดิมแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน

ประเด็นหลัก


ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ระบุถึงสิ่งที่ไทยพีบีเอสกำลังดำเนินการ โดยยกตัวอย่างการอบรมเสริม ‘พหุทักษะ’ นักข่าว 1 คน ต้องทำได้หลายอย่าง เรียกว่า One Man Journalists เช่นต้องเป็นช่างภาพได้ด้วย จากเดิมแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน เพื่อลดจำนวนบุคลากรน้อยลง จึงต้องส่งเสริมให้นักข่าวมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาควรสอนหรือให้ความสนใจพอสมควรเรื่อง ‘มัลติแพลทฟอร์ม’ เพราะตลาดวิชาชีพกำลังเฟ้นหาผู้จบการศึกษาที่มีความสามารถด้านนี้อยู่


_____________________________________________________










นักวิชาการสื่อฯ ชี้นักข่าวยุคใหม่ต้องมี ‘พหุทักษะ’ ทำได้ทุกอย่าง



นักวิชาการสื่อฯ ยกกรณีศึกษา ‘ไทยพีบีเอส’ พัฒนาคนสู่วิชาชีพ ต้องมี ‘พหุทักษะ’ เป็น One Man Journalists  เน้นเนื้อหาถูกต้อง วิเคราะห์ ยกระดับสุนทรียะ ยันสร้างนักข่าวเป็นนักไอทีง่ายกว่าสร้างนักไอทีเป็นนักข่าว เหตุมีเงื่อนไขบางอย่างคลุมอยู่


เร็ว ๆ นี้ นายอโณทัย อุดมศิลป์ ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ บรรยายพิเศษ เรื่อง ‘สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะไทยพีบีเอส’ กรณีศึกษา การพัฒนาคนเข้าสู่วิชาชีพ ในการประชุมเครือข่ายนักวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน ประจำปี 2558 ยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 9 ปฏิวัติคนข่าว:ทิศทางการพัฒนาบุคลากรสื่อ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม

นายอโณทัย กล่าวตอนหนึ่งถึงโครงสร้างองค์กรสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า มุ่งเน้นด้านการกำกับนโยบาย ซึ่งผู้กำลังศึกษาในขณะนี้คงไม่ได้จบมาเพื่อทำงานด้านดังกล่าว แต่องค์กรสื่อมวลชนกลับต้องการให้ทำความเข้าใจเรื่องนโยบายและการบริหารจัดการด้วย ถ้าผู้ศึกษามีความรู้พื้นฐานด้านนโยบายและการบริหารตั้งแต่ต้น เมื่อเข้ามาทำงานจะมีโอกาสเติบโตไปสู่ระดับผู้บริหาร มีความเข้าใจเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้อาจมีสอนในสถาบันการศึกษาแล้ว เพียงแต่ยังไม่เด่นชัด

สำหรับด้านพันธกิจหลักนั้น ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ กล่าวว่า การผลิตข่าวหรือรายการที่ปรากฏหน้าจอโทรทัศน์ ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจับประเด็น โครงสร้างรายการ การกำกับ การตัดต่อ คงมีการสอนอยู่มากแล้ว แต่ไทยพีบีเอสมองในแง่ผลิตรายการมากกว่า โดยเฉพาะเรื่อง ความถูกต้อง การใฝ่รู้ การวิเคราะห์ การยกระดับสุนทรียะในการชม และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

“ขณะนี้มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสูงขึ้น และพูดคุยกันมากเกี่ยวกับการนำเสนอเนื้อหาผ่านหลายช่องทาง ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับชมรายการโทรทัศน์ผ่านหน้าจอโทรทัศน์ทางเดียวเสมอไป ทำให้คำว่า ‘มัลติแพลทฟอร์ม’ ถูกพูดถึงกันมาก หมายถึง ต้องทำงานให้ออกมาหลายรูปแบบ” นายอโณทัย กล่าว และว่า ไม่ใช่การโคลนนิ่งเนื้อหาสาระเดียว แล้วนำเสนอออกมาเหมือนกันหมด แต่ต้องออกแบบให้เหมาะสมกับรูปแบบต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งผู้มีความสามารถเช่นนี้มีจำนวนน้อย ส่วนมากจะเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ระบุถึงสิ่งที่ไทยพีบีเอสกำลังดำเนินการ โดยยกตัวอย่างการอบรมเสริม ‘พหุทักษะ’ นักข่าว 1 คน ต้องทำได้หลายอย่าง เรียกว่า One Man Journalists เช่นต้องเป็นช่างภาพได้ด้วย จากเดิมแบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน เพื่อลดจำนวนบุคลากรน้อยลง จึงต้องส่งเสริมให้นักข่าวมีความรู้ด้านเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาควรสอนหรือให้ความสนใจพอสมควรเรื่อง ‘มัลติแพลทฟอร์ม’ เพราะตลาดวิชาชีพกำลังเฟ้นหาผู้จบการศึกษาที่มีความสามารถด้านนี้อยู่

นายอโณทัย กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีหวือหวาเพียงใด สิ่งที่จะเชือดเฉือนกัน คือ เนื้อหา แม้ช่องสถานีโทรทัศน์มีเทคโนโลยีมากอาจดึงความหวือหวาได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อรับชมไปนาน ๆ สุดท้ายผู้บริโภคจะต้องการเนื้อหาที่ดี เพราะเราอยู่ในสังคมข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องแปลงเป็นองค์ความรู้ได้ ตั้งคำถามว่า ขณะนี้เนื้อหาที่นำเสนอไปถึงจุดนั้นแล้วหรือไม่ หรือสามารถสร้างภูมิปัญญาและนวัตกรรมหรือไม่

นอกเหนือจากการเรียนหลักการทั่วไปเกี่ยวกับวิธีการทำข่าวและรายงานข่าว เพื่อมุ่งให้ผู้ที่เรียนจบมากลายเป็นนักข่าวหรือผู้ประกาศข่าว ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ระบุว่า ควรให้ความสนใจเกี่ยวกับการเป็นผู้ผลิตเนื้อหาที่ดี โดยสอนความรู้รอบตัวที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ถึงแม้ไม่เกี่ยวข้องกับรายวิชาสื่อสารมวลชนก็ตาม

“เมื่อผมให้คนมาช่วยงานจะคาดหวังว่า นอกจากมีความรู้ด้านสื่อสารมวลชนแล้ว จะต้องมีความรู้เรื่องอื่น ๆ ด้วย” นายอโณทัย กล่าว และว่า สิ่งที่กำลังกลายเป็นปัญหา คือ เนื้อหาบางเรื่องมักถูกมองข้าม ดังเช่น กรณีคนพิการ

ผอ.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ยังกล่าวถึงการรู้เท่าทันสื่อเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญ และมีความพยายามส่งเสริมความรู้แก่ประชาชน ส่วนนิสิตนักศึกษาถามว่าเราสอนในเรื่องดังกล่าวและควรรับผิดชอบเนื้อหาที่ผลิตขึ้นมากน้อยเพียงใด เพราะเหมือนขณะนี้เรากำลังโยนภาระให้แก่ผู้บริโภคต้องเรียนรู้ฝ่ายเดียว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้แต่สื่อมวลชนยังพลาดการรู้เท่าทันสื่อ มีการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ สุดท้ายตกหลุมพราง นั่นแสดงว่า หลายคนยังไม่เข้าใจ

“เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรด้านสื่อสารมวลชน มีคำถามขึ้นในเวทีครั้งนั้นว่า ถ้าเราต้องการให้มีบุคลากรน้อยลง คิดว่าระหว่างการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีให้เป็นนักข่าว กับการอบรมนักข่าวให้ทำงานด้านเทคโนโลยี ประการใดง่ายกว่ากัน” นายอโณทัย กล่าว และว่า คำตอบ คือ ข้อหลังง่ายกว่า เพราะนักข่าวไม่ได้เป็นกันง่าย ถึงแม้จะจบสาขาใดก็ทำได้ก็ตาม แต่ความจริงกลับมีเงื่อนไขบางประการเหมือนกัน ซึ่งมองว่า ผู้เรียนมาโดยตรงสามารถทำงานได้ดีกว่า .


http://www.isranews.org/thaireform/thaireform-news/item/37728-thaireform060458_37728.html

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.