Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

24 มีนาคม 2558 (บทความ) นีลเส็น" ฝ่ามรสุม...เชื่อมั่น "ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า // ต้องเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างตามการเพิ่มขึ้นของทีวีดิจิทัลอนาคตอาจปรับการสำรวจเป็นเรียลไทม์ หมายความว่า ทุกครั้งที่เปิดทีวีก็จะเริ่มจับพฤติกรรมผู้ชม และบันทึกไว้

ประเด็นหลัก





_____________________________________________________













"นีลเส็น" ฝ่ามรสุม...เชื่อมั่น "ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า"


กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในแวดวง "ทีวี-มีเดียเอเยนซี่" ขึ้นมาทันที เมื่อไม่ปรากฏชื่อ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด เสนอตัวเข้าร่วมสรรหาบริษัทวัดเรตติ้งทีวี ของ "สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ" หรือ Media Research Bureau : MRB ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของตัวแทนจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี และมีเดียเอเยนซี่ เนื่องจากนีลเส็น คือ ผู้ทำหน้าที่สำรวจความนิยมของผู้ชมทีวี (เรตติ้ง) ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ "สุเรช รามาลิงกัม" กรรมการผู้จัดการ นีลเส็น ประเทศไทย เวียดนามและเมียนมาร์ และ "สินธุ์ เภตรารัตน์" กรรมการผู้จัดการ แผนกนีลเส็น มีเดีย บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ถึงข้อสงสัยต่าง ๆ นานา



โดยที่ "สินธุ์" ชี้แจงว่า "เอ็มอาร์บี" ให้เวลาในการตัดสินใจน้อย ประกอบกับข้อมูลและรายละเอียดที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจ หลังจากนั้นจึงได้ส่งรายละเอียดไปยังบริษัทแม่ ท้ายที่สุดก็ไม่ทันเงื่อนเวลาที่ "เอ็มอาร์บี" กำหนด

"นีลเส็นเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการวัดเรตติ้งทีวี แต่ในไทยยังมีอีกหลายรายที่ให้บริการนี้ได้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมา มีเดียเอเยนซี่และสินค้า เลือกใช้ข้อมูลของนีลเส็นเป็นข้อมูลกลาง"

ซึ่งถ้าหาก "สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาสื่อ" สรรหาบริษัทวัดเรตติ้งทีวีใหม่เสร็จสิ้น เท่ากับว่าจะมีตัวกลางและข้อมูลเรตติ้งทีวีเพิ่มขึ้นอีก 1 ราย โดยที่นีลเส็นก็ยังคงดำเนินธุรกิจนี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาได้ลงทุนพัฒนาระบบวัดเรตติ้งทีวีมาอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนประเด็นที่ว่า นีลเส็นจะถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดไปมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้ยังให้รายละเอียดไม่ได้

"ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของลูกค้า (ช่องทีวี-มีเดียเอเยนซี่) เพราะวันนี้ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอน คือ มีการแข่งขันเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา"



"สุเรช" กล่าวว่า นีลเส็นมี 3 ธุรกิจหลัก ๆ ได้แก่ การสำรวจ-วิจัยธุรกิจค้าปลีก การสำรวจความต้องการและการใช้สินค้าของผู้บริโภค สุดท้ายคือธุรกิจมีเดีย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแนวโน้มที่เกิดขึ้น จะพบว่าธุรกิจมีเดียเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการขยายตัวของสื่อดิจิทัล ทีวีดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของมีเดียแลนด์สเคป

ขณะที่ "สินธุ์" ปฏิเสธจะบอกรายละเอียดถึงรายได้จากบริการวัดเรตติ้งทีวีว่า คิดเป็นสัดส่วนรายได้เท่าไร ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเทียบกับงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีในไทย ซึ่งมีมูลค่า 60,000-70,000 ล้านบาท รายได้ที่ได้รับยังไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ

สำหรับแผนลงทุนพัฒนาระบบการวัดเรตติ้งทีวีนั้น "สินธุ์" เสริมว่า ได้วางแผนการลงทุนไปแล้ว โดยกลางปีนี้จะเพิ่มจาก 1,800 ตัวอย่างเป็น 2,200 ตัวอย่าง และ 2,400 ตัวอย่างในปี 2559

"ตอนนี้ กสทช.ยังแจกกล่องรับชมทีวีดิจิทัลไม่ครบ 77 จังหวัด ดังนั้นถ้าจะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างให้ครบไปทีเดียวก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะการเพิ่มกลุ่มตัวอย่างต้องทำไปพร้อม ๆ กับการแจกกล่องของ กสทช."

นอกจากนี้ "สินธุ์" ยังตอบข้อสงสัยซึ่งเกิดขึ้นมานาน กลุ่มตัวอย่างที่นีลเส็นใช้ในการวัดเรตติ้งว่าน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งเจ้าตัวอธิบายว่า วิธีการเก็บกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรของประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับหลักการคำนวณกลุ่มตัวอย่าง โดยพิจารณาจากระบบออกอากาศของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ

ยกตัวอย่าง มาเลเซียมีประชากร 20 ล้านคน แต่ใช้มากกว่า 1,000 กลุ่มตัวอย่าง เพราะมีช่องจำนวนมาก และออกอากาศ 3-4 ภาษา จึงเป็น Multimarket แต่เมืองไทยเป็น Single Market คือ ยิงจากจุดเดียวรับชมได้ทั่วประเทศ และออกอากาศ 1 ภาษา จึงไม่จำเป็นต้องมีกลุ่มตัวอย่างมาก ๆ

"เราคำนวณแล้วว่าในสภาพแวดล้อมแบบนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างเท่าไรจึงจะเพียงพอ แต่ถ้าจะเพิ่มกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น ปัญหาก็คือราคาที่ออกมาลูกค้าจะซื้อไหวหรือเปล่า"

ถ้าถามว่า จำนวน 1,800 ตัวอย่างวันนี้ เพียงพอต่อจำนวนประชากร 64 ล้านคนหรือไม่ คำตอบ คือ...พอ !

ส่วนจะต้องเพิ่มจำนวนกลุ่มตัวอย่างตามการเพิ่มขึ้นของทีวีดิจิทัลหรือไม่ เรื่องนี้นีลเส็นได้คำนวณออกมาแล้วว่า จะเพิ่มอีก 400-600 ตัวอย่าง รวมเป็น 2,400 ตัวอย่าง ซึ่งโดยเฉลี่ย 1 ตัวอย่าง (ครัวเรือน) จะมี 3 คน เท่ากับมีคนดูที่ถูกสำรวจจริง ๆ 7,200 คน ซึ่งในอนาคตอาจปรับการสำรวจเป็นเรียลไทม์ หมายความว่า ทุกครั้งที่เปิดทีวีก็จะเริ่มจับพฤติกรรมผู้ชม และบันทึกไว้

โดยสเต็ปต่อไป "สุเรช" เสริมว่า เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน มุ่งให้บริการลูกค้าครบวงจร และรักษาความเป็นผู้นำ นีลเส็นฯเตรียมลงทุนสำรวจการรับชมผ่าน "มัลติสกรีน" ใน 4 จอหลัก ๆ ได้แก่ โมบาย, ทีวี, คอมพิวเตอร์ และแท็บเลต สอดรับกับพฤติกรรมรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยรับชมผ่านจอทีวีลดลง

ขณะที่การลงทุนในภาพกว้างบริษัทมีทีมโกลบอล มองหาบริษัทที่มีศักยภาพ และสามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจของบริษัท แต่ยังให้รายละเอียดไม่ได้

ล่าสุด เมื่อต้นปีที่ผ่านมา บริษัท นีลเส็นโฮลดิ้งส์ เอ็น.วี ได้เข้าซื้อกิจการแบรนด์แบงก์ บริษัทบริหารจัดการสื่อดิจิทัลร้านสุขภาพความงาม และตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคใน 16 ประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในส่วนดิจิทัล โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ความเคลื่อนไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย การเป็นผู้ให้บริการที่ครบวงจร

กระนั้นก็ตาม เมื่อมองย้อนกลับมาในประเทศไทย ย่อมไม่ใช่ครั้งแรกที่นีลเส็นฯต้องพบกับบททดสอบเรื่องราวทำนองนี้





http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1427090941

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.