Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

24 มีนาคม 2558 (บทความ) จับตา...รัฐเสียเปรียบ4G คนใช้ได้ไม่คุ้มจ่าย // แหล่งข่าวระบุ การประมูลคลื่นรอบนี้ ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะมีคลื่นอื่นๆรองรับอยู่แล้ว

ประเด็นหลัก


มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ มติดังกล่าวอาจทำให้การประมูลคลื่นรอบนี้ ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะมีคลื่นอื่นๆรองรับอยู่แล้ว

“การเพิ่มจำนวนคลื่นที่จะนำมาประมูล 4จี อาจส่งผลให้ไม่เกิดการสู้ราคาประมูลก็ได้ เหมือนตอนประมูล 3จี ที่จำนวนคลื่นความถี่ที่นำคลื่นมาประมูลเท่ากับจำนวนผู้ยื่นประมูล ทำให้ไม่มีการแข่งขันและเงินเข้ารัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”แหล่งข่าวจาก กสทช. ระบุ



_____________________________________________________













จับตา...รัฐเสียเปรียบ4จี คนใช้ได้ไม่คุ้มจ่าย

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

จับตา...รัฐเสียเปรียบ4จี คนใช้ได้ไม่คุ้มจ่าย

เมื่อต้นสัปดาห์คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 4 หรือ 4จี

ด้าน กสทช.โดดรับลูกทันที โดยเตรียมเปิดประมูลคลื่น 4จี ภายในปลายเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งจะแบ่งใบอนุญาตออกเป็น 4 ใบอนุญาต ได้แก่ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบ แต่ละใบมีความจุ 12.5 เมกะเฮิรตซ์ กำหนดราคาประมูลเริ่มต้นใบละ 1.16 หมื่นล้านบาท และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ 2 ใบอนุญาต แบ่งเป็นใบอนุญาตที่มีความจุ 10 เมกะเฮิรตซ์ ราคาประมูลเริ่มต้น 1.16 หมื่นล้านบาท และใบอนุญาตที่มีความจุ 7.5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาประมูลเริ่มต้น 8,445 ล้านบาท

แต่ปรากฏว่าทางคณะกรรมการเตรียมการฯ มีมติเพิ่มเติม โดยให้ไปศึกษาว่าการนำคลื่นความถี่อื่นๆ เช่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท ทีโอที และคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ของ บริษัท อสมท ที่ได้รับจัดสรรไปก่อนหน้า แต่ไม่มีการนำมาใช้งาน มาเปิดประมูลเพื่อให้บริการ 4จี หรือระบบบรอดแบนด์ในอนาคต

มีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ มติดังกล่าวอาจทำให้การประมูลคลื่นรอบนี้ ไม่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เพราะมีคลื่นอื่นๆรองรับอยู่แล้ว

“การเพิ่มจำนวนคลื่นที่จะนำมาประมูล 4จี อาจส่งผลให้ไม่เกิดการสู้ราคาประมูลก็ได้ เหมือนตอนประมูล 3จี ที่จำนวนคลื่นความถี่ที่นำคลื่นมาประมูลเท่ากับจำนวนผู้ยื่นประมูล ทำให้ไม่มีการแข่งขันและเงินเข้ารัฐน้อยกว่าที่ควรจะเป็น”แหล่งข่าวจาก กสทช. ระบุ



สอดคล้องกับข้อสังเกตของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะนำคลื่นความถี่ 2600 และคลื่น 2300 มาประมูลในเวลาพร้อมกันกับคลื่น 1800 และ 900 เพราะการดึงคลื่นดังกล่าวกลับมาเปิดประมูลรัฐอาจต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ทั้งๆ ที่รัฐควรใช้โอกาสนี้เร่งประมูลคลื่น 1800 และคลื่น 900 อีกทั้งยังมีความจุอื่นๆ ของคลื่น 1800 และคลื่น 900 ที่ทยอยหมดสัญญามาเปิดประมูลได้

“อยากให้รัฐกำหนดแผนประมูลและสื่อสารให้ชัด กำหนดนโยบายและกฎหมายให้แข่งขันประมูลคลื่นความถี่อย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อเสริมดิจิทัลอีโคโนมีอย่างแท้จริง เพราะระบบ 4จี ที่จะมีขึ้นในอนาคตจะทำให้มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เพิ่มโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้ประกอบการ ยกตัวอย่าง 3จี ที่ส่งผลให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น แท็กซี่ สามารถเรียกใช้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต อีกทั้งมีการประเมินว่าใน 4 ปี หรือปี 2562 อุปกรณ์ดีไวซ์และสมาร์ทโฟจะเพิ่มเป็น 65 ล้านเครื่อง จากปัจจุบัน 30-35 ล้านเครื่อง” สมเกียรติ ระบุ

สมเกียรติ ยังเสนอว่า รัฐบาลควรเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติรายใหม่เข้ามาลงทุน เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น โดยหากมีเพียง 3 ราย ก็อาจเกิดการแข่งขันไม่มากนัก

“ได้ทราบมาว่ามีคนเขียนในร่างรัฐธรรมนูญว่า การประมูลจะคำนึงถึงเงินประมูลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ประชาชนเสียค่าใช้จ่ายน้อยด้วย ซึ่งกังวลว่าอาจเกิดปัญหาการวิ่งเต้นอย่างเสรีตามมา แทนที่จะพิจารณาจากการแข่งขันประมูลแบบเสรี” สมเกียรติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีคำถามตัวโตที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลจะเปิดประมูล 4จี คือ หากมีการเปิดให้บริการจริง ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์เต็มที่หรือไม่ เพราะปกติแล้วความเร็วการส่งผ่านข้อมูลในเทคโนโลยี 4จี ในไทยขั้นต่ำจะสูงถึง 21 เมกะบิต/วินาที (Mbps) และสูงสุดถึง 100 เมกะบิต/วินาที เร็วกว่าเทคโนโลยี 3จี ตอนนี้ 2-3 เท่าตัว แต่กลับพบว่า 3จี ที่ผู้บริโภคใช้บริการอยู่ทุกวันนี้ โดยเฉพาะการส่งผ่านข้อมูลวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก และทำให้มีการร้องเรียนตามมา

เห็นได้จากตัวเลขการรับเรื่องร้องเรียนและการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ปี 2557 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่ามีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ 1,648 เรื่อง จากทั้งหมด 2,210 เรื่อง คิดเป็น 74.57% และในจำนวนนี้เรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ มาตรฐานการให้บริการ 794 เรื่อง หรือคิดเป็น 35.93% จากเรื่องที่ร้องเรียนทั้งหมด รองลงมาเป็นเรื่องการคิดบริการผิดพลาด 467 เรื่อง หรือ 21.13% ของเรื่องที่ร้องเรียน

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า สาเหตุที่มีการร้องเรียนว่าคุณภาพการให้บริการโทรศัพท์ในบางพื้นที่นั้น โดยเฉพาะการให้บริการด้านการส่งผ่านข้อมูลที่ไม่ได้เป็นไปตามความเร็วในระบบ 3จี ที่กำหนดไว้ที่ 7.2 เมกะบิต/วินาที เนื่องจากในบางพื้นที่ความสามารถในการให้บริการเต็มที่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ย่านสีลม ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. มีคนใช้บริการกันมาก และไม่ว่าจะตั้งเสาส่งสัญญาณเพิ่ม หรือส่งรถโมบายขยายสัญญาณเข้าไปก็จะไม่ได้ผล เพราะความสามารถของคลื่นเต็มแล้ว เหมือนกับถนน 8 เลนที่ตอนนี้วิ่งแออัดและขยายไม่ได้แล้ว

เช่นกัน ฐากร ยอมรับว่า พื้นที่ท่องเที่ยวบางแห่ง เช่น เขาใหญ่ หากมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมา บางปีเราคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 4 หมื่นคน กสทช.จะสั่งให้ผู้ให้บริการส่งรถขยายสัญญาณเข้าไปเพิ่ม แต่ปรากฏว่ามีคนเข้าพื้นที่ 7 หมื่นคน อย่างนี้สัญญาณก็วิ่งได้ไม่เต็มที่ตามระบบ 3จี ส่วนพื้นที่อื่นๆ กสทช.ก็เข้าตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ และสั่งให้โอเปอเรเตอร์เพิ่มจุดรับสัญญาณ หรือในช่วงเวลาให้โอเปอเรเตอร์ส่งรถโมบายขยายสัญญาณเข้าไปในแต่ละจุด

“ตอนนี้การให้บริการ 3จี มันเต็มแล้ว ซึ่งอยากให้เปรียบเทียบว่าเหมือนกับวันนี้มีถนน 8 เลน ที่เปิดให้รถวิ่งได้ 60 คัน แต่ในขณะนี้มีรถวิ่งถึง 80 คัน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสัญญาณในบางพื้นที่ แนวทางแก้ปัญหาที่ กสทช.ทำ คือ การให้มีรถคุณภาพสัญญาณไปในพื้นที่ต่างๆ เช่น ช่วงปีใหม่ก็เพิ่มรถเพิ่มคุณภาพสัญญาณในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อแก้ปัญหาความต้องการใช้งาน เราคงทำอะไรไม่ได้มากกว่านี้แล้ว แต่สิ่งที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คือ รัฐต้องเปิดประมูล 4จี ซึ่งเหมือนกับการขยายถนนจาก 8 เลน เป็น 16 เลน”ฐากร ระบุ



สำหรับการแก้ปัญหาผู้บริโภคใช้บริการ 3จี ได้ไม่เต็มที่นั้น ฐากร กล่าวว่า กสทช.ได้หารือกับผู้ให้บริการบางราย โดยขอให้หยุดเพิ่มปริมาณลูกค้า เพราะหากเพิ่มลูกค้าต่อไป แต่ไม่สามารถให้บริการได้เต็มที่ก็ไม่สมควรดำเนินการ เพราะปัจจุบันโทรศัพท์ที่เปิดใช้บริการ 110 ล้านเลขหมาย เป็นระบบ 3จี ถึง 90 ล้านเลขหลาย และในจำนวนนี้เป็นของบริษัท เอไอเอส 60 ล้านเลขหมาย ส่วน 2 ค่ายที่เหลือ คือ ดีแทคและทรูมูฟ มี 30 ล้านเลขหมาย ซึ่งเริ่มขยับไปให้บริการโทรศัพท์ 4จีแล้ว เพราะมีคลื่นเหลือ

“ผมได้สั่งการไปยังโอเปอเรเตอร์แล้ว ว่าอย่าไปยัดเยียดบริการที่ไม่ดีให้ลูกค้า”ฐากร ระบุ

ขณะที่ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. กล่าวว่า การใช้งานเทคโนโลยีของ 4จี จะมีเร็วมากกว่าเทคโนโลยี 3จี ประมาณ 2-3 เท่า แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่าการใช้งานระบบ 3จีเต็มที่แล้ว ทำให้บางช่วงเวลาใช้งานได้ที่ความเร็ว 2-3 เมกะบิต/วินาที เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานมาก

“ระบบ 4จี มีความจำเป็นต่อประเทศไทยสูงมาก เพราะขณะนี้คลื่น 3จี ที่มีอยู่มีการใช้งานสูงเกินที่คลื่นจะรองรับได้แล้ว แต่หากจะนำเทคโนโลยี 4จี มาใช้บนคลื่นความถี่ 1800 ส่วน 900 นั้น ในต่างประเทศมีการศึกษาว่าหากจะทำให้การใช้งานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรมีคลื่นอย่างน้อย 20 เมกะเฮิรตซ์”ประวิทย์ กล่าว

จึงเท่ากับว่าในช่วงต้นลงทุน 3จี เมื่อปี 2555 ผู้บริโภคต่างก็ใช้งาน 3จี ไม่เต็มที่ เพราะยังขยายเสาสัญญาณไม่ครอบคลุม แต่เมื่อถึงปี 2558 ผู้บริโภคก็ใช้งาน 3จี ไม่เต็มที่อีก เนื่องจากมีการระบุว่าการใช้งานขณะนี้เกินศักยภาพที่จะรองรับ

หรือนี่อาจเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคที่หวังจ่ายเงินตามเงื่อนไขของค่ายมือถือเพื่อใช้งานระบบ 3จี เต็มสปีด แต่กลับใช้งานได้กะปริบกะปรอย หากมี 4จี ใช้ในอนาคตจะซ้ำรอยหรือไม่?

สารี อ๋องสมหวัง

กสทช.อ่อนแอ กลุ่มทุนจะได้ประโยชน์

แม้จะมีเสียงตอบรับการประมูลคลื่น 4G จากผู้ประกอบการโทรคมนาคมและประชาชน แต่ก็มีคำถามว่ามี 4G แล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์จริงหรือ?

อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ 4G ย่อมดีกว่า 3G แน่ เพราะในเชิงเทคโนโลยี มาตรฐานความเร็วขั้นต่ำในการสื่อสารข้อมูล  (DATA) ของ 4G อยู่ที่ 100 Mbps มากกว่า 3G ซึ่งมีมาตรฐานขึ้นต่ำที่ 2Mbps หรือเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 50 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่ผ่านมาพบว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ มีแต่นักลงทุนที่ได้ประโยชน์เป็นกอบเป็นกำ เช่น การเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี EDGE (Enhanced Data rates for GSM Evolution) มาเป็น 3G ซึ่งให้ความเร็วในการสื่อสารข้อมูลมากขึ้น 6 เท่า หรือ 600%

แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้ประกอบการใช้ Capacity ช่องสัญญาณในการให้บริการน้อยลง ทำให้เหลือช่องสัญญาณที่จะรองรับลูกค้าใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้ แม้ไม่สามารถเทียบแบบบัญญัติไตรยางค์ว่าลดลง 600% แต่ก็ถือว่าลดลงในเปอร์เซ็นที่มาก

หากดูในแง่ของอัตราค่าบริการกลับพบว่า ราคาไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ส่วนประชาชนก็คิดว่าราคาเท่าเดิมแต่ได้ความเร็วอินเทอร์เน็ตเร็วขึ้น ไม่ได้เฉลียวใจว่าราคาค่าบริการควรจะถูกลงด้วย

อนุภาพ ยกตัวอย่าง บริการประเภท Voice ซึ่ง กสทช.ออกประกาศอัตราค่าบริการขั้นสูงจาก 0.99 บาท/นาที มาเป็น 0.84 บาท/นาที ซึ่งลดลงเพียง 15% เท่านั้น แต่ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงมากกว่านั้นหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับบริการ Data มีต้นทุน MB ละ 3 สตางค์ แต่คิดค่าบริการในอัตรา MB ละ 1 บาท ซึ่งเป็นการคิดราคาที่มากกว่าต้นทุนกว่า 3,300%

“ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงมหาศาล แต่ประชาชนยังไม่เข้าใจ เลยไม่เรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้”อนุภาพ กล่าว

นอกจากเรื่องค่าบริการแล้ว เรื่องคุณภาพก็เป็นอีกประเด็นที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างการใช้งานแอพพลิเคชั่นไลน์ ซึ่งมีฟีเจอร์ในการโทรด้วยเสียงฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมาตราฐานความเร็วขั้นต่ำของ 3G คือ 2Mbps สามารถโทรด้วยเสียงผ่านไลน์ได้อย่างสบายๆ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีผู้ประกอบการรายใดยอมให้บริการ 3G ที่ความเร็ว 2Mbps เห็นได้จากการใช้งานจริงที่โทรได้บ้างไม่ได้บ้าง

“เพราะหากเขาให้ความเร็ว 2Mbps จริง สิ่งที่จะเปลี่ยนคือคนจะหันไปโทรฟรีผ่านไลน์กันหมด ไม่มีใครใช้การโทรด้วยเสียงอีก ถ้าเป็นแบบนี้ผู้ประกอบการจะเสียรายได้จากบริการประเภท voice มหาศาล และเป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้เทคโนโลยีจะมาแล้ว แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้ มาจากความอ่อนแอ และไม่เอาใจใส่ในการกำกับดูแลของ กสทช.ทำให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับกลุ่มทุน ยิ่งกิจการโทรคมนาคมมีลักษณะผูกขาดอยู่แล้ว ถ้าหน่วยงานกำกับดูแลไม่แข็งแรง ประชาชนก็ยิ่งเสียประโยชน์

หน่วยงานกำกับดูแลบ้านเรายังไม่มีข้อมูลแม้แต่ต้นทุนการให้บริการที่แท้จริงของผู้ประกอบการเลย ตัวเลข 99 สตางค์ -84 สตางค์ ที่กำหนดมา ยกเมฆทั้งนั้น พอไม่มีข้อมูลต้นทุนที่แท้จริง แล้วจะเอาอะไรไปกำกับดูแลว่าบริการแต่ละประเภทควรมีราคาเท่านั้นเท่านี้” อนุภาพ กล่าว

ด้วยเหตุนี้ แม้จะเปิดการประมูล 4G และคาดหวังจะให้เป็นตัวสนับสนุนนโยบายดิจิทัล อีโคโนมี แต่ในทางปฏิบัติ หาก กสทช.ยังกำกับดูแลแบบเช่นในปัจจุบัน เกรงว่าภาพเดิมๆ จะเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร และยังคงต้องใช้ 4G ในราคา 3G เหมือนปัจจุบันที่ใช้ 3G ในราคาของ EDGE

“ถ้าอยากเห็นดิจิทัล อีโคโนมี ภาพเดิมๆ แบบนี้ก็ไม่ควรจะเกิดอีก ไม่อย่างนั้นเด็กนักเรียนทั้งหลายก็ไม่มีโอกาสได้ใช้อินเทอร์เน็ตในราคาถูก ที่สำคัญประชาชนควรจะได้ทั้งในแง่ค่าบริการที่ถูกลงและคุณภาพการบริการที่ดีขึ้น”อนุภาพ กล่าว

อนุภาพ เสนอว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง หน่วยงานกำกับดูแลควรปรับหลักเกณฑ์การจัดสรร ไม่ใช่ยึดแค่วิธีการประมูลอย่างเดียว แต่ควรนำเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของเทคโนโลยีมาเป็นตัวกำหนด ขณะเดียวกันต้องมีหลักเกณฑ์การ Roll out เน็ตเวิร์ก 4G ที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการขยายโครงข่ายตามปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องกำหนดว่าต้องติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ในกี่ปี ไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะไม่ได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากเทคโนโลยี 4G

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และประธานกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้ความเห็นว่า ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จาก 3G ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ที่ประมูลได้ไปมีต้นทุนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ (ไลเซนส์) เพียงรายละ 150 ล้านบาท/ปี รวม 3 รายก็ 450 ล้านบาท/ปี ถือว่าต้นทุนลดลงจากเดิมมาก หากเทียบกับค่าส่วนแบ่งรายได้ที่โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ต้องจ่ายแก่ผู้ให้สัมปทานเดิมหลักแสนล้านบาท/ปี แต่ค่าบริการแทบไม่ได้ลดลง

ขณะเดียวกัน ยังมีการร้องเรียนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเรื่องอื่นๆ อีก แต่ กสทช.ก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นในการประมูล 4G ควรกำหนดเงื่อนไขการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งเรื่องราคาและคุณภาพไว้ในไลเซนส์ให้ชัดเจน จะหวังให้ผู้ให้บริการลดราคาโดยสมัครใจย่อมไม่ได้

นอกจากนี้ ต้องกำหนดเงื่อนไขการ Roll out โครงข่าย 4G ลงในไลเซนส์ให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่มาเจรจากำหนดตกลงกันในภายหลัง โดยเสนอว่าต้องมีเงื่อนไขการ Roll out โครงข่ายให้ครอบคลุมในเชิงพื้นที่ ไม่ใช่ครอบคลุมตามความหนาแน่นของประชากร

“ถ้ากำหนดให้ติดตั้งโครงข่ายตามความหนาแน่นของประชากร คนที่ได้ใช้ 4G ก็มีแต่ในเมือง ส่วนในอำเภอรอบนอกที่มีประชากรน้อย หรือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจะไม่มีโอกาสได้ใช้บริการเลย”สารี กล่าว

สารี กล่าวด้วยว่า หากการประมูล 4G รอบนี้ มีแค่ 3 รายเดิมก็จะมีการผูกขาดต่อไป และจะไม่มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น




http://www.posttoday.com/วิเคราะห์/354789/จับตา-รัฐเสียเปรียบ4จี-คนใช้ได้ไม่คุ้มจ่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.