Header Ads

Screen-Shot-2561-02-24-at-11.53.29-PM.png
Breaking News
recent

06 มีนาคม 2558 GMM.จิตรลดา ระบุ ก่อนการประมูลช่องทีวีดิจิทัล กสทช. แบ่งหมวดหมู่และกำหนดเลขช่องส่งผลให้จบการประมูลได้ด้วยราคาสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่ในความเป็นจริงการเรียงช่อง 1 ถึง 36 ไม่เป็นทุกแพลตฟอร์ม

ประเด็นหลัก

"จิตรลดา เฮงยศมาก" ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม วัน กล่าวว่า ก่อนการประมูลช่องทีวีดิจิทัล กสทช. แบ่งหมวดหมู่ในการประมูลและกำหนดให้ผู้ที่ประมูลในราคาสูงสุดในแต่ละหมวดสามารถเลือกเลขช่องรายการในหมวดนั้น ๆ ได้ก่อน หมายเลขช่องรายการจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ส่งผลให้จบการประมูลได้ด้วยราคาสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งก่อนนี้ยังได้ออกกฎ must carry กำหนดให้ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลไปฉายในแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิล ซึ่งทางผู้ประกอบการคิดว่า จะมีการเรียงหมายเลขช่องตามแบบแพลตฟอร์มภาคพื้นดินคืออยู่ในช่อง 1 ถึง 36 แต่กลายเป็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น

การออกร่างประกาศนี้จึงจะช่วยป้องกันความสับสนของผู้ชม ประชาสัมพันธ์ช่องได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าโฆษณา รวมถึงการห้ามไม่ให้ช่องประเภท SD ไปออกอากาศแบบ HD ในแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิล

"ถ้าทำได้เท่ากับว่าจะทุ่มประมูลช่อง HD ในราคาสูง ๆ ไปทำไม เมื่อไม่เกิดความแตกต่างในการออกอากาศและการแข่งขัน"

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลรายอื่น อาทิ บมจ.อสมท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) ต่างสนับสนุนการเรียงเลขช่องรายการให้เหมือนกัน เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจประมูล




_____________________________________________________















เคลียร์ปมเรียงช่องทีวี ศึกยืดเยื้อ "ดิจิทัลvsดาวเทียม-เคเบิล"



ยังไม่ได้ข้อยุติ สำหรับร่างประกาศ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ที่บรรดาทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีคัดค้านมาตลอด เนื่องจากมีสาระสำคัญคือบังคับให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีต้องเรียงลำดับเลขช่องหมายเลข 1-36 ให้เป็นช่องทีวีดิจิทัล ห้ามทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีนำช่องทีวีดิจิทัลที่ประมูลในช่องประเภทความคมชัดปกติ (SD) ไปออกอากาศด้วยความคมชัดสูง (HD)

กสทช.จึงเชิญผู้ประกอบการทีวีทุกประเภทมาหาข้อยุติ

ช่องดิจิทัลหนุนเต็มที่

"จิตรลดา เฮงยศมาก" ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลช่องจีเอ็มเอ็ม วัน กล่าวว่า ก่อนการประมูลช่องทีวีดิจิทัล กสทช. แบ่งหมวดหมู่ในการประมูลและกำหนดให้ผู้ที่ประมูลในราคาสูงสุดในแต่ละหมวดสามารถเลือกเลขช่องรายการในหมวดนั้น ๆ ได้ก่อน หมายเลขช่องรายการจึงถือเป็นสาระสำคัญที่ส่งผลให้จบการประมูลได้ด้วยราคาสูงกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ทั้งก่อนนี้ยังได้ออกกฎ must carry กำหนดให้ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลไปฉายในแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิล ซึ่งทางผู้ประกอบการคิดว่า จะมีการเรียงหมายเลขช่องตามแบบแพลตฟอร์มภาคพื้นดินคืออยู่ในช่อง 1 ถึง 36 แต่กลายเป็นว่าไม่เป็นเช่นนั้น

การออกร่างประกาศนี้จึงจะช่วยป้องกันความสับสนของผู้ชม ประชาสัมพันธ์ช่องได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าโฆษณา รวมถึงการห้ามไม่ให้ช่องประเภท SD ไปออกอากาศแบบ HD ในแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิล

"ถ้าทำได้เท่ากับว่าจะทุ่มประมูลช่อง HD ในราคาสูง ๆ ไปทำไม เมื่อไม่เกิดความแตกต่างในการออกอากาศและการแข่งขัน"

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการช่องทีวีดิจิทัลรายอื่น อาทิ บมจ.อสมท บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง 7) ต่างสนับสนุนการเรียงเลขช่องรายการให้เหมือนกัน เนื่องจากเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจประมูล



ทีวีดาวเทียม-เคเบิลค้านสุดตัว

"วิชิต เอื้ออารีวรกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจริญยิ่ง (8888) จำกัด ผู้ประกอบการ"เจริญเคเบิลทีวี" กล่าวว่า เมื่อทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี ยอมรับกฎ must carry แล้ว กสทช.ก็ไม่ควรมาบังคับการเรียงลำดับหมายเลขช่องอีก เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากช่องที่อยู่ในอันดับหมายเลขต้น ๆ ส่งผลต่อการจดจำของผู้ชม ทำให้มีมูลค่าสูง การบังคับจะทำให้ไม่สามารถหารายได้ให้อยู่รอดได้ ที่สำคัญ กสทช.ต้องส่งเสริมแข่งขันที่เป็นธรรมสำหรับทุกแพลตฟอร์ม

"ประชาชนเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรับชมช่องทีวีดาวเทียมและเคเบิล ประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการยังมีสิทธิ์เลือกคอนเทนต์ที่จะนำเสนอให้ผู้ชม ในหมายเลขช่องแรก ๆ ได้ เป็นการสร้างความแตกต่างระหว่างแพลตฟอร์มทีวี เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม"

เช่นเดียวกับการห้ามไม่ให้ช่อง SD อัพเกรดเป็น HD เพราะผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลได้เตรียมอัพเกรดระบบการออกอากาศเป็นแบบ HD แล้ว เพื่อสร้างความแตกต่างกับทีวีภาคพื้นดินทั่วไป กสทช.จึงไม่ควรห้าม เพราะเป็นสิทธิ์และเป็นการปรับตัวตามเทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอด

ด้านประธานชมรมผู้ประกอบการโครงข่ายดาวเทียม "มานพ โตการค้า" เห็นตรงกันว่า ควรให้โอกาสเจ้าของแพลตฟอร์มกำหนดการเรียงช่องเอง ส่วนการห้ามไม่ให้ช่อง SD ไปออกอากาศแบบ HD เป็นการตัดสิทธิ์ของเจ้าของช่องที่ยอมจะเสียค่าใช้จ่ายในการออกอากาศเพิ่ม และเจ้าของแพลตฟอร์มที่จะแข่งกันสร้างจุดเด่น

"ถ้าทีวีดาวเทียมไม่ต่างจากทีวีภาคพื้นดิน ช่องดาวเทียมก็จะค่อย ๆ หายไปจากในระบบ เหมือนจะมุ่งสนับสนุนเฉพาะช่องทีวีดิจิทัลหรือเปล่า ขณะที่การอัพเกรดก็ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด กสทช.ควรปล่อยให้เป็นการแข่งขันของตลาดดีกว่า"




ต่างไม่เข้าใจธรรมชาติตลาด

"ปราโมช โชติศรีกุลชัย" ตัวแทนจากสมาพันธ์สมาคมดิจิตอลคอนเทนต์บันเทิงไทย กล่าวว่า การที่ กสทช.ออกกฎ must carry เพราะปัจจุบันผู้ชมทีวีผ่านแพลตฟอร์มดาวเทียมและเคเบิลกว่า 70% จึงต้องการให้นำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศผ่านแพลตฟอร์มเหล่านี้ด้วย แต่ กสทช.ก็ต้องเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจด้วยว่าต้องมีการแข่งขันกัน บรรดาเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมต่างสร้างคอนเทนต์ให้แตกต่างจากทีวีภาคพื้นดิน เพื่อให้เป็นจุดขายที่จะดึงคนดูให้จ่ายเงินเข้ามาชม นี่จึงเป็นวิธีการแข่งขันระหว่างฟรีทีวี กับทีวีประเภทบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี)

"ในต่างประเทศไม่มีการกำหนด ใครจะอยู่เลขไหนก็ทำได้ สิ่งที่แข่งขันคือ การหาเนื้อหาที่คนอยากดู ซึ่งจะทำให้ผู้ชมจดจำเลขช่องได้เอง ปัญหาการบังคับเรียงช่องเมื่อยังถกกันไม่จบ ก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมทั้งระบบ วิธีการที่ดีที่สุดคือ กสทช.ไม่ควรจะมายุ่งกับตลาดและการแข่งขันมากจนเกินไป ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการบังคับ เพราะการประมูลทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้ครอบคลุมมาถึงแพลตฟอร์มทีวีอื่น บรรดาทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวีย่อมมีสิทธิ์ในการนำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับผู้ชม และในอนาคตเทคโนโลยีก็ต้องมีการอัพเกรดอยู่แล้ว จึงไม่อยากให้ออกกฎนี้มาสร้างปัญหาในอนาคต"

เตรียมฟ้อง-เรียกเงินคืน

ภายหลังการโฟกัสกรุ๊ป ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่ายต่างจับกลุ่มกันหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหานี้ต่อไป โดยแหล่งข่าวภายในกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกล่าวว่า คงต้องเรียกร้องให้ กสทช.คืนเงินค่าประมูลช่องบางส่วน หาก กสทช.ไม่สามารถผลักดันให้มีการเรียงเลขช่องตรงกันในทุกแพลตฟอร์มได้ และอนุญาตให้ช่องประเภท SD มาออกอากาศแบบ HD

ขณะที่ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีหลายรายได้หารือกันว่า จะมีการรวมตัวกันฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครอง หากประกาศนี้มีผลบังคับใช้จริง

ด้าน กสทช. "ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์" กล่าวว่า จะรวบรวมความเห็นทั้งหมดเสนอให้บอร์ด กสทช.พิจารณา และถ้ามีการปรับแก้ร่างประกาศนี้จนต่างไป ก็จะมีการเปิดประชาพิจารณ์อีกครั้ง




http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1425526328

ไม่มีความคิดเห็น:

So Magawn ( รวบรวบประวัติศาสตร์โทรคมนาคมและการสือสารไทย ). ขับเคลื่อนโดย Blogger.